บล.บัวหลวง:

Agro & Food – น้ำตาลทรายกลับไปเป็นสินค้าควบคุมใหม่อีกครั้ง

What’s new?

เมื่อวันที่ 31 ต.ค. 2023 ครม. มีมติเห็นชอบให้ “น้ำตาลทราย” กลับไปเป็น “สินค้าควบคุม” ตามพ.ร.บ.ว่าด้วยราคาสินค้าและบริการปี 1999 ใหม่อีกครั้ง เพื่อป้องกันผลกระทบกับประชาชนและทุกภาคส่วนที่ใช้น้ำตาลทรายเป็นวัตถุดิบ และมอบหมายให้กระทรวงอุตสาหกรรมกำหนดมาตรการช่วยเหลือเกษตรกรชาวไร่อ้อยให้ได้รับผลตอบแทนอย่างเหมาะสมและเป็นธรรม เพื่อให้สอดคล้องกับต้นทุนการผลิตอ้อยในแต่ละช่วงเวลา โดยไม่ส่งผลกระทบต่อผู้บริโภคตามที่กระทรวงพาณิชย์เสนอ ในส่วนของการช่วยเหลือเกษตรกรชาวไร่อ้อย รมว.กระทรวงอุตสาหกรรมรับไปศึกษาดูผลกระทบที่จะเกิดควบคู่กับการติดตามค่าชดเชยต่างๆ ที่เกษตรกรควรได้รับ และนำมาตรการช่วยเหลือมาเสนอที่ประชุมครม. ภายใน 2 สัปดาห์นี้

หลังจากกำหนดให้เป็นสินค้าควบคุมแล้ว ได้กำหนดสองมาตรการกำกับดูแลได้แก่ (1) กำหนดราคาจำหน่ายหน้าโรงงานไว้เท่าเดิมที่ 19 บาท/กก. สำหรับน้ำตาลทรายขาวและที่ 20 บาท/กก. สำหรับน้ำตาลทรายขาวบริสุทธิ์ และควบคุมราคาจำหน่ายปลีกไว้เท่าเดิมที่ 24 บาท/กก. สำหรับน้ำตาลทรายขาวและที่ 25 บาท/กก. สำหรับน้ำตาลทรายขาวบริสุทธิ์ และ (2) ควบคุมการส่งออกตั้งแต่ 1 ตันขึ้นไป โดยต้องขออนุญาตจากคณะอนุกรรมการที่จะจัดตั้งขึ้น มีเลขาธิการสำนักงานอ้อยและน้ำตาลทราย (สอน.) เป็นประธาน และมีรองอธิบดีกรมการค้าภายในเป็นรองประธาน ซึ่งกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการในการกำกับดูแลต่อไป เพื่อให้น้ำตาลทรายมีเพียงพอใช้ในประเทศ และไม่กระทบการส่งออกน้ำตาลทรายของไทย

View From Fundamental:

เรามองว่าการที่รัฐบาลเข้าแทรกแซงราคาน้ำตาลหน้าโรงงานและราคาน้ำตาลขายปลีกและให้น้ำตาลทรายกลับไปเป็นสินค้าควบคุมใหม่อีกครั้ง ถือว่าเป็นการบิดเบือนกลไกตลาด และมีความสุ่มเสี่ยงที่จะถูกฟ้องร้องจากบราซิลไปยังองค์การการค้าโลก (WTO) ใหม่อีกครั้งเนื่องจากประเทศไทยกลับไปใช้ระบบเดิม ก่อนหน้านี้บราซิลได้แจ้งข้อกล่าวหาประเทศไทยไปยัง WTO ว่าประเทศไทยมีการอุดหนุนอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทราย จนนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงระบบการบริหารจัดการอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายของไทยใหม่ โดยให้ยกเลิกการกำหนดโควต้าก. ข. และค. สำหรับการจำหน่ายน้ำตาลทราย และไม่มีการควบคุมราคาจากภาครัฐซึ่งมีผลตั้งแต่วันที่ 15 ม.ค. 2018 นอกจากนี้การใช้เงินภาษีของภาครัฐมาสนับสนุนค่าอ้อยให้กับชาวไร่อ้อยถือว่าผิดกติกาการค้าโลกของ WTO รวมถึงชาวไร่อ้อยก็เสียผลประโยชน์ที่ควรได้รับจริงตามระบบแบ่งปันผลประโยชน์ 70:30 เรามองว่าจะส่งผลกระทบทางลบต่อทั้งอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลไทยในภาพรวม

เรามองว่ายังเป็นการเร่งให้การมีการลักลอบส่งออกน้ำตาลมากขึ้นเนื่องจากราคาส่งออกที่สูงกว่าราคาในประเทศ และสำหรับผู้ประกอบการน้ำตาลไทย เนื่องจากราคาขายในประเทศถูกควบคุม เรามองว่าผู้ประกอบการจะหันไปส่งออกมากกว่าการขายในประเทศ แม้ว่าการส่งออกจะถูกควบคุมก็ตาม (หมายถึง ยังคงส่งออกได้แต่ต้องขออนุญาต) เรายังคงคำแนะนำ “ซื้อเก็งกำไร” หุ้น KSL เนื่องจากราคาน้ำตาลโลกที่จะยังคงเป็นขาขึ้นไปจนถึง 1H24 จากภาวะเอลนีโญ่

- Advertisement -