บล.บัวหลวง:
Starflex (SFLEX TB / SFLEX.BK)
SFLEX – กำไรเป็นไปตามคาด ก้าวสู่ปีหน้าเติบโตแกร่งหลังรวมธุรกิจลงทุนในเวียดนาม
กำไร 3Q23 เป็นไปตามตัวเลขคาดการณ์ล่าสุด แต่สูงกว่าตลาดคาด
SFLEX รายงานกำไรสุทธิ 3Q23 ที่ 48.9 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 8-เท่าตัว YoY แต่ย่อตัวลง 3% QoQ หักรายการพิเศษจากอัตราแลกเปลี่ยน กำไรหลักจะอยู่ที่ 48.4 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 10-เท่าตัว YoY แต่ลดลง 4% QoQ ใกล้เคียงกับที่เราคาด (แต่สูงกว่าตลาดคาด 10%) ทั้งนี้ บริษัทประกาศจ่ายเงินปันผลระหว่างกาล 0.045 บาท/หุ้น (Div. yields 1.3%) ขึ้นเครื่องหมาย XD วันที่ 22 พ.ย. และรับเงินปันผล 7 ธ.ค.
ประเด็นสำคัญจากผลประกอบการ
กำไรหลักที่เติบโตสูง YoY เกิดจากอัตรากำไรขั้นต้น (GM) ที่ปรับตัวสูงขึ้นมาก ขณะที่ลดลง QoQ เกิดจากรายได้ที่อ่อนตัวลง ซึ่งแลกมากับ GM เฉลี่ยที่สูงขึ้น โดยรายได้จากการขายอยู่ที่ 421 ล้านบาท ทรงตัว YoY (แต่ลดลง 9% Q0Q) ส่วน GM อยู่ที่ 25.4% เพิ่มขึ้นจากเพียง 11% ใน 3Q22 และที่ 24.9% ใน 2Q23 และยืนระดับสูงกว่า 20% มาต่อเนื่องเป็นไตรมาสที่ 3 ปัจจัยหนุนหลักจาก Product mix และการบริหารจัดการ-คัดเลือกลูกค้าที่ดำเนินการมาตั้งแต่ปีที่แล้ว ค่อยๆ บรรลุผลมาต่อเนื่อง สำหรับ SG&A/sales ratio อยู่ที่ 12.4% เพิ่มขึ้น 1.6% YoY ทรงตัว QoQ
แนวโน้ม
ในการประเมินเบื้องต้น เรามองแนวโน้มกำไร 4Q23 จะเติบโต YoY และอย่าง น้อยทรงตัว QoQ โดยคาดจะเป็นไตรมาสที่สามารถใช้สิทธิประโยชน์ทางภาษี BOI ได้ (เลื่อนมาจาก 3Q23) และยังรักษาระดับรายได้ราวๆ 415-420 ล้านบาท และ GM ในระดับ 22-24% รวมทั้งคาดว่าจะสามารถ จบดีลซื้อ Star Print Vietnam (SPV) และรับรู้ส่วนแบ่งกำไรเข้ามาราว 1 เดือน
สิ่งที่เปลี่ยนแปลง
เรามีการปรับปรุงตัวเลขสมมติฐานประมาณการ (Fine-tune) กำไรให้สอดคล้องกับภาพที่เกิดขึ้นใน 3Q23 โดยหลักๆ มีการปรับลดประมาณการรายได้และส่วนแบ่งกำไรลง (SPV เข้าไม่ทันแผนเดิม) แต่เพิ่มสมมติฐาน GM ขึ้น (ผลกระทบต่อกำไรปี 2023-24 กลบกันพอดี) ทำให้ประมาณกำไรหลักปี 2023-24 เราใกล้เคียงเดิมที่ 186 (+240% YoY) และ 244 (+31% YoY) ตามลำดับ โดยกำไรหลัก 9M23 คิดเป็น 75% ของประมาณการกำไรปัจจุบันของเรา ทั้งนี้ SFLEX จะมีงาน Opportunity day ในวันที่ 14 พ.ย. ซึ่งคาดว่าจะได้ข้อมูลแนวโน้มธุรกิจเพิ่มเติม เพื่อสะท้อนลงในประมาณการต่อไป
คำแนะนำ
เราเลื่อนไปใช้ราคาเป้าหมายปี 2024 ที่ 5.40 บาท โดยได้ปรับลดตัวคูณ PER ลงมาเป็น 18 เท่า (เปลี่ยนมาใช้ค่าเฉลี่ยของคู่เทียบในอุตสาหกรรม) ซึ่งมองว่าสะท้อนความคาดหวังของตลาดที่ใส่ความอนุรักษ์นิยมในการลงทุนมากขึ้น ราคาเป้าหมายใหม่เป็นระดับแรกที่หุ้นควรกลับขึ้นไปแตะได้ หากการซื้อ SPV สำเร็จ เพราะจะทำให้ประมาณการเป็นไปได้มากขึ้น ขณะที่ราคาหุ้นปัจจุบันซื้อขายบน PER ปี 2024 ที่ 12 เท่า (กรณีไม่รวม SPV ที่ 17 เท่า) ซึ่งยังต่ำกว่าเฉลี่ยคู่เทียบกลุ่ม Packaging ปัจจุบัน จึงมองว่าเป็นโอกาสถัวเฉลี่ยสะสมหุ้น