ฟังแนวคิดผู้นำหลากวงการระดับประเทศ กับเวทีเสวนา “THE PEOPLE TALK : GAME CHANGER FORUM 2023” ถอดบทเรียน “คน” เปลี่ยนเกม เพื่อทะยาน สู่เส้นทางแห่งอนาคต
ถึงเวลา ปรับตัว เปลี่ยนแปลง!! “The People” สื่อรุ่นใหม่ที่นำเสนอเรื่องราว การสร้างแรงบันดาลใจเรื่อง ‘คน’ จัดเสวนา “THE PEOPLE TALK : GAME CHANGER FORUM 2023 ถอดบทเรียน “คน” เปลี่ยนเกม เพื่อทะยาน สู่เส้นทางแห่งอนาคต” เวทีแลกเปลี่ยน แบ่งปันความรู้และประสบการณ์จากผู้นำระดับประเทศหลากหลายวงการ เพื่อปลุกพลังความเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลง ณ คริสตัล บ็อกซ์ ชั้น 19 เกษร เออร์เบิน รีสอร์ท แยกราชประสงค์ กรุงเทพมหานคร
นายอนันต์ ลือประดิษฐ์ บรรณาธิการอำนวยการ ผู้ร่วมก่อตั้ง The People เปิดเผยว่า ตลอดระยะเวลา 5 ปี ที่ผ่านมา The People นำเสนอเนื้อหาเชิงสร้างสรรค์ด้วยศาสตร์และศิลป์ของการเล่าเรื่องผ่าน “คน” กว่า 5,000 เรื่องราว ในโอกาสก้าวสู่ปี 6 จึงอยากเป็นส่วนหนึ่งในการปลุกพลังความเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลง ผ่านเวทีเสวนา THE PEOPLE TALK : GAME CHANGER FORUM 2023 เพื่อแบ่งปันความรู้และประสบการณ์จากผู้นำทางความคิด ผู้นำองค์กร ทั้งในเรื่องของเทคโนโลยีภูมิปัญญา อีกทั้งสร้างแรงบันดาลใจ แสดงให้เห็นถึงความเป็นไปได้จริงของการเปลี่ยนแปลง
“ครั้งนี้เราได้รับเกียรติจากบรรดาผู้บริหารหลายภาคส่วน ทั้งภาครัฐและเอกชนที่มีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนประเทศ มาถ่ายทอดแนวคิดและมุมมองที่แตกต่าง พร้อมแบ่งปันความรู้และประสบการณ์สู่การถอดบทเรียนจาก ‘คน’ ที่เป็นผู้นำในการเปลี่ยนแปลงเชิงสร้างสรรค์ต่อเศรษฐกิจและสังคมไทย เพื่อให้ทุกคนก้าวข้ามความท้าทายต่างๆ ไปสู่โอกาสใหม่ๆ ซึ่งนับเป็นโอกาสที่ดีของทุกคนที่จะได้เรียนรู้และพัฒนาทักษะที่จำเป็นสำหรับการเปลี่ยนแปลงธุรกิจ ทั้งเทคนิคการบริหารจัดการ การใช้นวัตกรรม เพื่อให้ธุรกิจก้าวไปสู่โลกอนาคตได้อย่างมั่นคงและยั่งยืน”
เปิดเวที “THE PEOPLE TALK : GAME CHANGER FORUM 2023” ปลุกพลังด้วย Exclusive Forum ซึ่งได้รับเกียรติจาก นายแพทย์สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี กรรมการและเลขานุการคณะกรรมการยุทธศาสตร์ซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติ คีย์แมนคนสำคัญที่ร่วมผลักดันยุทธศาสตร์ซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติให้เป็นจริง ที่พร้อมจะพาทุกคนก้าวสู่ความเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลงในหัวข้อ “การเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลง บนโลกที่เปลี่ยนเร็ว” กล่าวว่า การเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลง บนโลกที่เปลี่ยนเร็ว ผู้นำจะต้องมีความฝันและลงมือทำให้เป็นจริง ต้องมีความเชื่อ ความตั้งใจจริง มีความอดทน มีสติ และรับฟังข้อมูลแบบเปิดกว้าง ขณะเดียวกันก็ต้องหมั่นทบทวนอยู่เสมอว่า ทุกอย่างมีการเปลี่ยนแปลง เช่น คำว่า “ซอฟต์พาวเวอร์” ภายใต้นิยามเมื่อ 20 ปีที่แล้ว หากมาทำในวันนี้ ภายใต้บริบทที่เปลี่ยนไป จะต้องทำอย่างไร ผู้นำที่จะสร้างการเปลี่ยนแปลงให้เกิดขึ้นได้จริงนั้น ไม่สามารถทำได้ด้วยตัวคนเดียว การมีทีมที่ดีเพื่อช่วยซัพพอร์ตจึงเป็นเรื่องสำคัญ
เข้มข้นต่อกับช่วง Visionary Leadership Talk ถอดบทเรียน “คน” เปลี่ยนเกม ปรับตัว เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว เพื่อทะยานสู่เส้นทางแห่งอนาคต โดยผู้ทรงคุณวุฒิ ได้แก่ นายสันติ โหลทอง นายกสมาคมกีฬาอีสปอร์ตแห่งประเทศไทย ผู้ที่เข้ามาเปลี่ยนวงการ “เกม” สร้างมาตรฐานอีสปอร์ตในบ้านเราให้สังคมโดยรวมยอมรับ ในหัวข้อ “เปลี่ยน ‘เกม’ สู่การเป็นกีฬาอาชีพ” กล่าวว่า จากคนที่ชอบเล่นเกมที่มองเห็นโอกาสในการเติบโตของเกม จึงก่อตั้ง
สมาคมกีฬาอีสปอร์ตแห่งประเทศไทยเพื่อเชื่อมโยงคนในวงการเกมเข้าด้วยกัน และผลักดันให้การเล่นเกมหรืออีสปอร์ต กลายเป็นอีกหนึ่งกีฬาอาชีพของประเทศไทย แต่เส้นทางความสำเร็จไม่ใช่เรื่องง่ายเพราะถูกมองว่าเป็นภัยต่อความมั่นคงของประเทศ แต่ด้วยความมุ่งมั่นและพลังสนับสนุนของเหล่าเกมเมอร์ทั่วประเทศ ทำให้ในวันนี้อีสปอร์ตกลายเป็นที่ยอมรับในฐานะกีฬาที่ต้องใช้สมอง และกลายเป็นกีฬาระดับโลก สู่อาชีพที่สามารถสร้างรายได้อย่างมหาศาลให้กับผู้เล่น
นายแซม ตันสกุล กรรมการผู้จัดการ บริษัท กรุงศรี ฟินโนเวต จำกัด ผู้นำด้านการสนับสนุนและลงทุนในเทคโนโลยีนวัตกรรมและสตาร์ทอัพทั้งในระดับประเทศและภูมิภาค ในหัวข้อ “Changeสตาร์ทอัพไทยให้ขึ้นทำเนียบ ยูนิคอร์น” กล่าวว่า กรุงศรีฟินโนเวตตอนนี้มีการลงทุนใน 23 สตาร์ทอัพรวม 3 ยูนิคอร์น อย่าง Grab, Flash Express และ Klook ความท้าทายสำหรับสตาร์ทอัพในไทยคือ Venture Capital (VC) ส่วนใหญ่ไม่ลงทุนในสตาร์ทอัพที่อยู่ในช่วงเริ่มต้น (Early–stage) ทำให้มีสตาร์ทอัพไทยที่จะเติบโตต่อเป็นยูนิคอร์นน้อย นอกจากนี้ประเทศไทยมีโปรแกรมเมอร์เพียง 50,000 คน ในขณะที่เวียดนามมี 500,000 คน ทำให้สตาร์ทอัพไทยแม้จะคิดอะไรใหม่ๆ ได้ แต่ไม่สามารถปฏิบัติได้จริง ในปีหน้ากรุงศรีฟินโนเวตมีแผนจะลงทุนอีกกว่า 20 สตาร์ทอัพรวมถึงจัดตั้งกองทุนใหม่เพื่อสตาร์ทอัพในช่วง Early–stage ที่มีศักยภาพ เพื่อส่งเสริมให้สตาร์ทอัพไทยเติบโตอย่างยั่งยืน ผลักดันให้ประเทศไทยก้าวสู่ยุค 4.0 หรือ 5.0 อย่างเต็มตัวในอนาคต และเศรษฐกิจถูกขับเคลื่อนด้วยสตาร์ทอัพและเทคโนโลยีได้อย่างสหรัฐอเมริกา
นายสินนท์ ว่องกุศลกิจ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บ้านปู เน็กซ์ จำกัด ผู้ให้บริการโซลูชันพลังงานสะอาดชั้นนำของภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ในหัวข้อ “Greener and Smarter Tomorrow” กล่าวว่า กลุ่มบ้านปูตั้งเป้าหมายที่จะมุ่งสู่การผลิตพลังงานสะอาด ลดการปล่อยคาร์บอน (Decarbonize) ให้ได้มากที่สุด และเปลี่ยนผ่านองค์กรสู่ดิจิทัล (Digitize) ปัจจุบันบ้านปูเน็กซ์ดำเนินธุรกิจใน 7 ประเทศและกำลังจะเพิ่มสหรัฐอเมริกาเข้ามา และตั้งเป้าจะเป็นผู้นำด้าน Total smart energy player และเป็นฟันเฟืองสำคัญในการผลักดันเรื่อง Net Zero ให้กับทุกคนในภูมิภาคนี้ โดยพันธกิจนี้จะสำเร็จได้ ต้องปลูกฝัง Mindset ให้กับคนในองค์กร ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญ โดยคนบ้านปูจะต้องรู้จักยืดหยุ่นในการทำงาน (Resilience) คิดแบบกลยุทธ์เป็น มีการตัดสินใจที่แม่นยำ และส่งผ่านรุ่นต่อรุ่นได้
นายอดิทิพ ภาณุพงศ์ Industry Head, Strategic Partnerships, Google ประเทศไทย ผู้ให้บริการเสิร์ชเอนจินค้นหาข้อมูลบนอินเทอร์เน็ตอันดับหนึ่งของโลก กล่าวในหัวข้อ “How AI is a game changer for user, business and society” ว่า อ้างอิงจากรายงานของ McKinsey & Co พบว่า AI สร้างผลกระทบต่อรายได้จากการตลาดและการขายมากที่สุด ดังนั้นเราต้องมาดูว่าAI ช่วยเรื่องการตลาดและการขายได้อย่างไร ข้อแรก AI ช่วยให้เข้าถึงผู้บริโภคได้อย่างถูกวิธีและถูกเวลา ถัดมา AI สามารถช่วยในเรื่องความคิดสร้างสรรค์ ซึ่งเป็นต้นทุนที่สูง ใช้เวลานาน และยาก และสุดท้าย AI ช่วยสร้างความแม่นยำในการเข้าถึงผู้บริโภค นอกจากนี้ องค์กรต้องเข้าใจว่า ไม่ได้แข่งกับ AI แต่เราแข่งกับธุรกิจและนักการตลาดที่ใช้ AI ดังนั้นหากเราต้องการสร้างความได้เปรียบทางการแข่งขัน เราต้องใช้ AI กับ Data ของเราเอง เพราะเป็นสิ่งที่คู่แข่งไม่มี และต้องคำนึงถึง Touch point ที่สำคัญที่สุดที่อยากปรับเปลี่ยน (Transform) รวมถึงการปรับเปลี่ยนหน้าที่ (Task) และกระบวนการ (Process) ในองค์กรที่สามารถใช้ AI เพื่อช่วยเพิ่มประสิทธิภาพทำให้การทำงานง่ายขึ้นและลดการใช้ทรัพยากรแบบสิ้นเปลืองลง
ปิดท้ายกับการเสวนา (Panel Discussion) ในหัวข้อ “CHANGE อย่างไรให้ก้าวนำโลก” โดย นายธนา เธียรอัจฉริยะ ประธานกรรมการ บริษัท บลูบิค กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) ผู้ให้บริการที่ปรึกษาด้านกลยุทธ์และการจัดการ ด้วยนวัตกรรมและเทคโนโลยีระดับโลก กล่าวว่า วันนี้โลกไม่ใช่ยุคของปลาใหญ่กินปลาเล็ก หรือปลาเร็วกินปลาช้า แต่เปรียบเสมือนยุค “ปลาโอลิมปิก กินปลาซีเกมส์” การแข่งขันบนโลกไร้พรมแดนมากขึ้น ไม่ว่าต้องการแข่งขันอะไรก็ต้องมีมาตรฐานระดับโลก เพื่อแข่งกับคู่แข่งที่บุกมาถึงบ้านเรา ภาคธุรกิจต้องเข้าใจว่า มาตรฐานระดับโอลิมปิกที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจของตัวเองอยู่ตรงไหน แล้วไปฝึกแบบมาตรฐานนั้น เช่น การฝึกนักกีฬาวอลเลย์บอลหญิงของไทย ที่โค้ชไปดูมาตรฐานการซ้อมระดับโลกจากประเทศชั้นนำ แล้วปรับมาฝึกกับทีม ความยิ่งใหญ่ในระดับประเทศอาจไม่เพียงพอ เพราะท้ายที่สุด จะมีกลุ่มมาตรฐานโอลิมปิกมาแข่งอยู่ดี ต้องใหญ่และมีมาตรฐานระดับภูมิภาคหรือระดับโลก ขณะเดียวกัน Game Changer ที่สำคัญสำหรับองค์กร คือการหา “A Player” หรือบุคคลที่มีทักษะความสามารถที่ยอดเยี่ยม สำหรับงานและธุรกิจของบริษัท เข้ามาร่วมงานให้ได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากมองบริษัทของตัวเองในฐานะทีมกีฬา
นายขยล ตันติชาติวัฒน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เมทเธียร์ จำกัด ผู้ให้บริการด้านบริหารจัดการอสังหาริมทรัพย์อัจฉริยะ (Smart Facility Management) แบบครบวงจร กล่าวว่า ท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว เทคโนโลยีคือคำตอบสำคัญที่จะช่วยสร้างโลกให้ดีขึ้นได้ โดยเฉพาะการดูแลด้านความปลอดภัยและการดูแลสิ่งแวดล้อม ขณะเดียวกัน ทุกคนยังต้องเผชิญกับ “BANI World” หรือโลกที่มีทั้งความเปราะบาง (Brittle) ความกังวล (Anxious) ความสัมพันธ์ซับซ้อน ไม่เป็นเส้นตรง (Nonlinear) และเข้าใจยาก (Incomprehensible) ผู้นำองค์กรจึงต้องมีวิสัยทัศน์ที่ดี มองการณ์ไกลถึงการเปลี่ยนโลกให้ดีขึ้น พร้อมกับการสื่อสารให้คนในองค์กรเข้าใจ เพื่อให้ทุกคนอยากเปลี่ยนแปลงโลกไปพร้อมกัน
นายศุภโชค ปัญจทรัพย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท แอสเซท ไฟว์ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ A5 ผู้นำในการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ประเภทที่อยู่อาศัยทั้งแนวราบและแนวสูงที่สร้างความแตกต่างอย่างมีคุณค่า กล่าวว่า โลกในขณะนี้เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว และเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา 1.ประชากรลดลงอย่างรวดเร็ว ในยุคหลังสงครามเย็น ไทยมีประชากร 30 ล้านคน และเพิ่มขึ้นต่อเนื่องจนกลายเป็น 66 ล้านคน ขณะที่ยุคถัดจากนี้ โลกก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ประชากรมีบุตรน้อยลง ผู้สูงอายุมากขึ้น และมีแนวโน้มที่จำนวนประชากรอาจถอยกลับไปเหลือ 30 ล้านคน 2.โลกก้าวสู่ยุคการปรับความต้องการเฉพาะบุคคล (Personalization) ผู้คนเปิดมือถือแล้วพบสิ่งที่ตัวเองชอบอยู่ตลอดเวลาจากข้อมูลทางเทคโนโลยี ส่งผลให้แนวโน้มความต้องการของคนต่อตลาดอสังหาริมทรัพย์ ต้องใส่ใจเรื่อง personalization มากขึ้น เช่น อาจมีการออกแบบโลโก้เฉพาะสำหรับบ้านแต่ละหลังเพื่อเจ้าของแต่ละคน การออกแบบบ้านให้คนต่างเจเนอเรชันอาศัยอยู่ร่วมกันได้ หากต้องการให้องค์กรประสบความสำเร็จ ต้องไม่ยึดติดกับสูตรสำเร็จเดิมๆ ผู้นำต้องมองอนาคตให้ขาด และต้องให้ความสำคัญกับการสื่อสารวิสัยทัศน์ไปให้ถึงสมาชิกทีม เพื่อพาองค์กรไปสู่เป้าหมาย
นายรวิศ หาญอุตสาหะ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ศรีจันทร์สหโอสถ จำกัด ผู้ดำเนินธุรกิจด้านเวชภัณฑ์ เคมีภัณฑ์และเครื่องสำอาง กล่าวว่า ทุกวันนี้ไม่ว่าปลาใหญ่หรือปลาเล็กก็ต้องเหนื่อยทั้งนั้น เพราะวิธีการมองโลกของคนเปลี่ยนไป อะไรก็ตามที่หายไปมักมีสิ่งใหม่เข้ามาแทนที่เสมอ องค์กรจึงต้องพร้อมปรับตัวรับความเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ยิ่งกว่านั้น การทำธุรกิจในปัจจุบันไม่สามารถมองเป้าหมายแค่ผลกำไรเพียงอย่างเดียว แต่ต้องวางเป้าหมายระยะยาว มองไปถึงลูกค้า พนักงาน และสังคมด้วย ซึ่งหากคิดในมุมนี้จะสามารถเปลี่ยนวิธีการทำงานของทั้งองค์กรได้
#ThePeople #ThePeopleTalk #GAMECHANGERFORUM2023#Thepeople5thAnniversary #Gamechanger #ถอดบทเรียนคนเปลี่ยนเกม #คนเปลี่ยนเกม #A5Greatnessinspiredbylove #MetthierRiseAbove