บล.บัวหลวง:
Agro and Food – ปรับราคาน้ำตาลหน้ารง.เพิ่มขึ้นอีก 2 บาท/กก.
What’s new?
เมื่อวันที่ 14 พ.ย. 2023 ที่ประชุมครม. ได้มีการพิจารณาข้อเสนอและแนวทางการบริหารความการบริหารความสมดุลในอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทราย โดยให้ทำการปรับขึ้นราคาน้ำตาล 2 บาท/กก. โดยเป็นการขึ้นราคาของราคาจำหน่ายหน้าโรงงานซึ่งไม่ใช่ราคาค้าปลีก โดยจะมีสินค้า 2 ชนิดคือ ราคาน้ำตาลทรายขาวจากเดิมกก.ละ 19 บาทเพิ่มขึ้นเป็น 21 บาท และน้ำตาลทรายขาวบริสุทธิ์จากเดิมกก. ละ 20 บาทเพิ่มขึ้นเป็น 22 บาท โดยคาดว่าจะมีผลตั้งแต่วันที่ 15 พ.ย. เป็นต้นไป สำหรับราคาจำหน่ายปลีกเห็นควรมีราคากำกับดูแลที่เหมาะสม
ส่วนอีกส่วน 2 บาท/กก. ที่มีการขอขึ้น (ถ้าอิงกับการประชุมล่าสุดของคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทรายหรือกอน. ที่มีมติให้ปรับขึ้น 4 บาท/กก. ช่วงปลายเดือนต.ค.) เพื่อนำเงินเข้ากองทุนดูแลสิ่งแวดล้อมนั้น ครม. ยังไม่มีมติให้ปรับขึ้น โดยให้ก. อุตสาหกรรม และฝ่ายที่เกี่ยวข้องไปหารือกันใหม่ เพื่อไม่ให้ผู้บริโภคต้องแบกรับต้นทุนเพียงฝ่ายเดียว
ก่อนหน้านี้ หลังจากเมื่อ 31 ต.ค. 2023 ซึ่งครม. มีมติเห็นชอบให้ “น้ำตาลทราย” เป็นสินค้าควบคุม แต่หลังจากประกาศให้เป็นสินค้าควบคุมแล้ว พบว่าเกษตรกรได้รับความเดือดร้อน เนื่องจากราคาที่ควบคุมไม่สอดคล้องกับต้นทุนที่เพิ่มสูงขึ้น ทำให้เกษตรกรไร่อ้อยมีความลำบาก หลังจากนั้นเมื่อวันที่ 2 พ.ย. 2023 ได้จัดการประชุมหารือกับตัวแทนเกษตรกรชาวไร่อ้อยก. อุตสาหกรรม ก.พาณิชย์ และก.เกษตรและสหกรณ์ ซึ่งมีข้อสรุปให้ขึ้นราคาน้ำตาล 2 บาท/กก. โดยเป็นการขึ้นราคาของราคาจำหน่ายหน้าโรงงาน
View From Fundamental:
ข่าวข้างต้นถือว่าเป็นข่าวบวกต่อผู้ประกอบการน้ำตาลทุกรายของประเทศไทย และบริษัทที่จดทะเบียนในตลาดฯ จำนวน 4 บริษัท ได้แก่ KSL BRR KBS และ KTIS เรามองว่าการปรับราคาหน้าโรงงาน (หรือราคาขายส่ง) ย่อมจะส่งผลกระทบไปยังราคาขายปลีกให้ปรับเพิ่มขึ้นตามมาในที่สุดตามกลไกของอุปสงค์และอุปทานในตลาด (แม้ว่ารัฐจะได้พยายามที่จะเข้ามาควบคุมดูแลและตรึงราคาขายปลีกก็ตาม) เนื่องจากคงเป็นการยากที่จะให้พ่อค้าคนกลางไปแบกรับภาระต้นทุนที่ซื้อมาแพงและยังคงราคาขายปลีกไว้เท่าเดิม เราคาดว่าการกักตุนน้ำตาลในภาวะที่ราคาน้ำตาลแพงขึ้นอาจหลีกเลี่ยงไม่ได้ในช่วงระยะสั้นถึงระยะกลาง
ผู้ประกอบการน้ำตาลที่จดทะเบียนในตลาดฯ ที่เราดูแลอยู่คือ KSL เรามองว่าราคาน้ำตาลหน้าโรงงานหรือขายส่งที่ปรับเพิ่มขึ้นอีก 2 บาท/กก. จะเห็นผลกระทบทางบวกชัดเจนต่อ KSL ตั้งแต่ช่วงปลาย 1Q24 (พ.ย. 2023-ม.ค. 2024) หรือใน 2Q24 (ก.พ.-เม.ย. 2024) เป็นต้นไป และเนื่องจากวอลุ่มขายในประเทศของ KSL สำหรับงวด 9M23 อยู่ที่ 1.36 แสนตันหรือคิดเป็น 20% ของวอลุ่มขายน้ำตาลในประเทศของ KSL ทั้งหมด (ส่วนอีก 80% ที่เหลือเป็นส่งออก) ผลกระทบทางบวกต่อ KSL จึงไม่ได้มากนัก เราทำ sensitivity analysis ถ้าราคาขายในประเทศปรับเพิ่มขึ้นเป็น 21 บาท/กก. (หรือเพิ่มขึ้น 3 บาท/กก. จากสมมติฐานราคาในประเทศเฉลี่ย ณ ปัจจุบันของเราที่ 18 บาท/กก. ในปี 2024) กำไรสุทธิปี 2024 ของ KSL มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอีก 3.3% จากเดิม เรายังคงคำแนะนำ “ซื้อเก็งกำไร” หุ้น KSL ที่ราคาเป้าหมาย 4.60 บาทจากราคาน้ำตาลโลกที่เป็นขาขึ้นภายใต้ภาวะอากาศ
เอลนีโญ่จนถึง 1H24 (ส่งผลต่อผลผลิตอ้อยในไทยและอินเดียให้ลดลงในปี 2023/24)