บล.บัวหลวง:
Ichitan Group (ICHI TB / ICHI.BK)
ICHI – ปรับเป้ารายได้ขึ้นสำหรับปี 2023
ผู้บริหารปรับเป้ารายได้ปี 2023 เป็น 8 พันล้านบาท จากเดิมตั้งไว้ 7.6 พันล้านบาท จากแนวโน้มยอดขาย 4Q23 แข็งแกร่ง ซึ่งทำให้รายได้และกำไรของ ICHI ลุ้นเป็น record high ในปี 2023 และตั้งเป้ารายได้ปี 2024 เติบโต 10% พร้อมอัตรากำไรเพิ่มจาก economies of scale และต้นทุนวัตถุดิบและบรรจุภัณฑ์ลดลง
มูลค่าตลาดธุรกิจซาพร้อมดื่มเติบโตสูงสุดในหมวดเครื่องดื่ม
มูลค่าตลาดธุรกิจซาพร้อมดื่ม (RTD Tea) 12,329 ล้านบาท สำหรับ 9 เดือนแรกของปี 2023 หรือ โต 19% YoY เทียบกับอุตสาหกรรมเครื่องดื่มรวมที่มีการเติบโต10% YoY และโมเมนตัมการเติบโตของ RTD Tea ยังคงต่อเนื่องใน 4Q23 สำหรับปี 2024 ผู้บริหารมอง RTD Tea ยังได้รับประโยชน์จาก 1) มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจจากทางภาครัฐ, 2) อากาศร้อนจากผลกระทบของเอลนิโญ และ 3) จำนวนนักท่องเที่ยวที่เพิ่มขึ้น
ผลการดำเนินงานมีแนวโน้มโตต่อเนื่อง QoQ ใน 4Q23
ICHI รายงานรายได้ 3Q23 ที่ 2,077 ล้านบาท (โต 25% YoY) และกำไร 3Q23 ที่ 328 ล้านบาท (โต 71% YoY) และรายได้ 9 เดือน ที่ 5,938 ล้านบาท (โต 26% YoY) และกำไร 9 เดือน ที่ 805 ล้านบาท (โต 80% YoY) โดยปรับเป้ารายได้ปี 2023 เป็น 8 พันล้านบาท จากเดิม 7.6 พันล้านบาท โดยผู้บริหารคาดรายได้ 4Q23 โต QoQ
อัตราการใช้กำลังการผลิตเพิ่มจาก 62% ใน 1Q23 เป็น 71% ใน 2Q23, 79% ใน 3Q23 และคาด 77% ใน 4Q23 สำหรับอัตรากำไรขั้นต้น (GM) 4Q23 ผู้บริหารคาดจะอยู่ที่ 24% จาก 25.2% ใน 3Q23 จากการบันทึกส่วนลดการค้า (rebate) ทำให้ GM 2023 จะอยู่ที่ 23% จาก 18.7% ในปี 2022
โดย consensus คาดการณ์กำไรสุทธิปี 2023 จะอยู่ที่ 1 พันล้านบาท จาก 642 ล้านบาท ปี 2022 ทั้งนี้ กำไรสุทธิ 9M23 ของ ICHI อยู่ที่ 805 ล้านบาท คิดเป็น 80% ของประมาณการของ consensus และจากข้อมูลจากที่ประชุมที่คาดได้ว่ากำไร 4Q23 จะใกล้เคียงกับ 3Q23 ทำให้เราประเมินว่าตัวเลขกำไรสุทธิปี 2023 ของ consensus มี upside
เป้ารายได้ปี 2024 และการขยายกำลังการผลิต 4Q24
ผู้บริหารคาดรายได้ปี 2024 ที่ 8.8 พันล้านบาท หรือ โต 10% YoY จะต้องใช้อัตราการใช้กำลังการผลิตที่ 80% และจ้างผลิตจากโรงงานอื่น ซึ่งหากมีความต้องการแข็งแกร่ง บริษัทมีโรงงานพันธมิตรที่ได้มีการพูดคุยไว้แล้ว สำหรับแผนงานการขยายกำลังการผลิตอีก 200 ล้านขวดต่อปี จาก 1,500 ล้านขวดต่อปี จะพร้อมเดินเครื่องผลิตใน 4Q24
ต้นทุนมีแนวโน้มลดลง
ผู้บริหารชี้แจงว่าการขึ้นราคาน้ำตาลในประเทศ 2 บาท ต่อก.ก. ไม่มีผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญ คือคิดเป็นต้นทุนเพิ่มขึ้นเพียง 0.36% ของต้นทุนรวม หรือ 20 ล้านบาทต่อปีเท่านั้น ในขณะที่ต้นทุนบรรจุภัณฑ์และอื่นๆ ลดลง 4% YoY เป็นจำนวนที่เยอะกว่ามาก นอกจากนี้ บริษัทกำลังศึกษาการลดน้ำหนักขวดและจะนำไปทดลองผลิตในต้นปี 2024 ซึ่งจะเป็นโปรเจคในระยะยาวสำหรับการลดต้นทุน