บล. โกลเบล็ก (GBS) ประเมินหุ้นไทยในช่วงไตรมาส 4/2566 ไปจนถึงไตรมาส 1/2567 แกว่งตัวในลักษณะ Sideway Up จากตัวเลขเศรษฐกิจที่แผ่วลงของสหรัฐ หนุนคาดการณ์ FED ยุติการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย จึงให้กรอบสัปดาห์นี้ที่ 1,400-1,450 จุด แนะกลยุทธ์ลงทุนหุ้น 3 กลุ่มเด่น “หุ้นที่ได้ประโยชน์จาก Bond Yield ปรับตัวลง-หุ้นรับนโยบาย Digital Wallet- e-Refund-หุ้นที่มี ESG สูง และอยู่ใน SET50”
นางสาววิลาสินี บุญมาสูงทรง ผู้อำนวยการอาวุโสฝ่ายวิจัย บริษัทหลักทรัพย์ โกลเบล็ก จำกัด หรือ GBS ประเมินทิศทางตลาดหุ้นไทยหุ้นในช่วงไตรมาส 4/2566 ไปจนถึงไตรมาส 1/2567 ว่า ยังมีแนวโน้มแกว่งตัวในลักษณะ Sideway Up โดยมีแรงหนุนจากสหรัฐเปิดเผยตัวเลขผู้ยื่นขอสวัสดิการว่างงานครั้งแรกเพิ่มขึ้น ส่งผลให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐปรับตัวลดลง ขณะที่ราคาน้ำมันดิบที่ปรับตัวลงกดดันหุ้นกลุ่มพลังงาน จึงคาดการณ์กรอบดัชนีสัปดาห์นี้ที่ 1,400-1,450 จุด
ขณะที่ทิศทางดัชนีในปี 2567 ทาง บล.โกลเบล็ก ให้กรอบการเคลื่อนไหวระหว่าง 1,373-1,569 จุด โดยอ้างอิง EPS ปี 67 จาก Bloomberg Consensus ที่ 98 บาท ภายใต้สมมติฐานการเติบโต GDP ปี 2567 ที่ 4.40% และอิง PE Ratio 14-16 เท่า
อีกทั้งการเปิดเผยตัวเลขเศรษฐกิจที่แผ่วลงของสหรัฐส่งผลให้คาดการณ์ว่า FED จะยุติการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย อาทิ จำนวนผู้ยื่นขอสวัสดิการว่างงานครั้งแรกเพิ่มขึ้นสูงกว่าคาดการณ์ ตัวเลขเงินเฟ้อ (CPI, PPI) ปรับขึ้นต่ำกว่าคาดการณ์ และคาดว่าทิศทางอัตราดอกเบี้ยขาขึ้นจะจบแล้วหลังเงินเฟ้อชะลอตัว ล่าสุด แบบจำลอง GDPNow แสดงให้เห็นว่า GDP ของสหรัฐขยายตัว 2.2% ในไตรมาส 4/2566 หลังจากมีการขยายตัว 2.2%, 2.1% และ 4.9% ใน ไตรมาส 1, 2 และ 3 ตามลำดับ ขณะที่ FedWatch Tool บ่งชี้ว่า นักลงทุนให้น้ำหนัก 49.8% ที่ FED จะปรับลดอัตราดอกเบี้ย 0.25% สู่ระดับ 5.00-5.25% ในการประชุมเดือนพ.ค. 2567 จากเดิมที่ให้น้ำหนักเพียง 32.1% เร็วขึ้นจากเดิมที่คาดว่าจะเริ่มลดอัตราดอกเบี้ยในเดือนมิ.ย. 2567
นอกจากนี้ทางโกลด์แมน แซคส์ คาดว่า เศรษฐกิจโลกปี 2567 อาจเติบโตได้ดีกว่าที่คาดไว้ ภาคการผลิตจะฟื้นตัว การขึ้นอัตราดอกเบี้ยจะหมดไป และรายได้ที่แท้จริงเติบโตแข็งแกร่ง เช่นเดียวกับ Consensus ได้ประมาณการ GDP ปี 67 เติบโตประมาณ 3-4% ภาพรวมเศรษฐกิจไทยในปี 2567 ส่วนที่อาจเติบโตดีกว่าคาดการณ์มีตัวแปรจากโครงการดิจิทัลวอลเล็ต ขณะที่กระทรวงพาณิชย์เปิดเผยเป้าหมายการส่งออกของไทยในปี 2567 เบื้องต้นเพิ่มขึ้น 1.99% โดยต้องรอตัวเลขการส่งออกทั้งปีของปี 2566 ทั้งนี้ในช่วง 3 เดือนที่เหลือของปีนี้จะยังขยายตัวเป็นบวกอย่างต่อเนื่องทำให้คาดว่าการส่งออกทั้งปีจะติดลบราวไม่เกิน 1% น้อยกว่าที่หลายฝ่ายคาดการณ์ไว้
ส่วนปัจจัยลบที่จะมีผลกับตลาดหุ้นไทย อาทิ เศรษฐกิจจีนมีความเสี่ยงชะลอตัวจากผลกระทบของภาคอสังหาริมทรัพย์ที่มีสัดส่วน 1 ใน 3 ของเศรษฐกิจจีน และความเสี่ยงด้านภูมิรัฐศาสตร์จากความขัดแย้งของอิสราเอล-กลุ่มฮามาส รัสเซีย-ยูเครน รวมทั้งความกังวลต่อปัญหาหนี้สาธาราณะต่อ GDP มีแนวโน้มสูงขึ้นจากแผนกู้เงินมาใช้ในโครงการดิจิตัลวอลเล็ต ณ ปลายกันยายน 2566 ประเทศไทยมียอดหนี้สาธารณะต่อ GDP เท่ากับ 62% เทียบกับเพดานหนี้อยู่ที่ 70% และภาระหนี้ครัวเรือนอยู่ในระดับสูง โดยมีปัจจัยที่ต้องจับตา ได้แก่ การประชุม กนง. ครั้งที่ 6/2566 ซึ่งเป็นครั้งสุดท้ายของปีในวันที่ 29 พ.ย.นี้ ต่อด้วย ธปท.รายงานภาวะเศรษฐกิจไทย และปัจจัยต่างประเทศ อาทิ เช้าวันที่ 22 พ.ย. คณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐ (FOMC) เปิดเผยรายงานการประชุมวันที่ 31 ต.ค.-1 พ.ย. วันที่ 24 พ.ย. ประชุม OPEC+ วันที่ 12-13 ธ.ค. กำหนดการประชุม FED ครั้งสุดท้ายของปี 2566 ทั้งนี้กำหนดการประชุม FED ในปี 2567 รวม 8 ครั้งในวันที่ 31 ม.ค. 67 -1 ก.พ., 21-22 มี.ค., 2-3 พ.ค, 13-14 มิ.ย., 25-26 ก.ค., 19-20 ส.ค., 31 ต.ค.-1 พ.ย. และ 12-13 ธ.ค.
ดังนั้น แนะนำกลยุทธ์การลงทุนใน 3 กลุ่มเด่น อาทิ
- หุ้นที่ได้ประโยชน์จาก Bond Yield ปรับตัวลงเนื่องจากคาดว่า FED ยุติการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย ได้แก่ TIDLOR, SAWAD และ MTC
- หุ้นที่ได้ประโชย์จากนโยบาย Digital Wallet และ e-Refund ได้แก่ BJC, CPALL, CPAXT, CRC, CPN, COM7, SPV\I, CPW, JMART, HMPRO, DOHOME, GLOBAL, ZEN, M, AU, TNP และ KK
- หุ้นที่ได้รับการประเมินว่ามี ESG สูง และอยู่ใน SET50 ได้แก่ ADVANC, CPALL, CPF, CRC, OR, PTTEP และ TOP