บล.พาย:
AOT: บมจ. ท่าอากาศยานไทย
FY4Q23 โบนัสพนักงาน ทำกำไรต่ำคาดเล็กน้อย
AOT รายงานกำไรสุทธิงวด FY4Q23 (ก.ค.-ก.ย.) อยู่ที่ 3,432 ล้านบาท +9%QoQ และพลิกจากที่ขาดทุน 1,333 ล้านบาทใน FY4Q22 แต่ถ้าไม่รวมรายการาพิเศษจะมีกำไรปกติ 3,639 ล้านบาท (+12%YoY) ต่ำกว่าที่เราคาดเล็กน้อย เนื่องจากมีค่าใช้จ่ายพนักงานที่เพิ่มขึ้น หลังมีการจ่ายโบนัสสูงกว่าที่เคยคาดไว้ โดยแนวโน้มในปี 24 คาดว่าจะยังเห็นการฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง หลังจากการเดินทางระหว่างประเทศเริ่มฟื้นตัว เห็นได้จากตัวเลขเที่ยวบินและผู้โดยสารในเดือน ต.ค. ยังคงเพิ่มขึ้นได้เมื่อเทียบกับเดือน ก.ย. อย่างไรก็ตามด้วยค่าใช้จ่ายพนักงานที่มากขึ้น รวมถึงค่าใช้จ่ายในการเปิดอาคาร SAT-1 ทำให้เราปรับกำไรทั้งปีลงเล็ก น้อยมาอยู่ที่ 27,735 ล้านบาท (+215%YoY) แต่ยังคงแนะนำ “ซื้อ” เช่นเดิมเพราะได้รับผลดีจากการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยวไทย
FY4Q23 มีกำไรสุทธิ 3,432 ล้านบาท ต่ำกว่าคาดเล็กน้อย
- AOT มีกำไรสุทธิงวด FY4Q23 อยู่ที่ 3,432 ล้านบาท (+9%QoQ) พลิกจากที่ขาดทุน 1,333 ล้านบาท ใน FY4Q22 ดีขึ้นต่อเนื่อง นับตั้งแต่เกิดโควิด หากไม่รวมรายการพิเศษอย่างเช่นขาดทุนจากการด้อยค่าสินทรัพย์ 152 ล้านบาท ขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยน 100 ล้านบาท และกำไรจากตราสารอนุพันธ์ 54 ลบ. กำไรปกติจะอยู่ที่ 3,639 ลบ. (+12%QoQ) ต่ำกว่าที่เราคาดไว้ 6%
- รายได้อยู่ที่ 15,362 ลบ. (+135%YoY,+19%QoQ) โดยมีสัดส่วนรายได้จากธุรกิจที่ไม่ใช่การบินเพิ่มเป็น 59% จาก 53% ใน FY3Q23 เกิดจากรายได้ส่วนแบ่งผลประโยชน์ที่เพิ่มขึ้น 221%YoY, 35%QoQ หลังผู้โดยสารระหว่างประเทศเพิ่มขึ้น 36%YoY.5%QoQ และรายได้ค่าเช่าสำนักงานที่เพิ่มขึ้น 204%YoY, 104%QoQ เพราะมีการรับรู้รายได้ค่าเช่าย้อนหลังของการบินไทยเข้ามา ขณะที่รายได้ค่าบริการผู้โดยสารขาออก +95%YoY, +6%QoQ โดยมีจำนวนผู้โดยสารรวมที่ 25.7 ล้านคน (+48%YoY, +3%QoQ) สำหรับจำนวนเที่ยวบินรวมอยู่ที่ 164,998 เที่ยวบิน (+35%YoY, +3%QoQ)
- ต้นทุนหลักรวมอยู่ที่ 9,288 ล้านบาท (+37%YoY, +25%QoQ) เพิ่มขึ้นมากในส่วนของค่าใช้จ่ายพนักงาน (+93%YoY, +54%QoQ) เพราะมีการบันทึกโบนัสพนักงานเพิ่ม ส่วนค่าใช้จ่ายอื่นๆที่เพิ่มขึ้นหลักคือ ค่า ซ่อมแซมและบำรุงรักษา +30%YoY,+44%QoQ เป็นไปตามกิจการการบินที่มากขึ้น รวมแล้ว AOT มีกำไรจากการดำเนินงาน 6,074 ล้านบาท (+10%QoQ) พลิกจากที่ขาดทุน 237 ล้านบาท ใน FY3Q22
- รวมทั้งปี AOT มีรายได้ 48,141 ล้านบาท (+191%YoY) และมีกำไรสุทธิ 8,791 ล้านบาท เทียบกับที่ขาดทุน 11,088 ล้านบาทใน FY22 คาดปี 24 ฟื้นตัวต่อเนื่อง แต่จะไปเท่าปี 19 หรือไม่ต้องลุ้น
- สำหรับแนวโน้มในปี 24 (ต.ค.23-ก.ย.24) เราคาดว่าการเดินทางทางอากาศจะยังฟื้นตัวได้ต่อเนื่อง หลังจากภาครัฐมีการสนับสนุนภาคการท่องเที่ยวอย่างมาก โดยเฉพาะการเปิดเปิดฟรีวีซ่า อย่างไรก็ตาม จำนวนผู้โดยสารที่ AOT เคยประเมินไว้ที่ 141 ล้านคนซึ่งเป็นระดับเดียวกันกับปี 19 เริ่มมีความเสี่ยงหลังจากจำนวนนักท่องเที่ยวจีนในเดือน ต.ค. ออกมาน้อยกว่าที่เคยคาดไว้ แม้จะมีการเปิดฟรีวีซ่าไป ตั้งแต่ปลายเดือน ก.ย. ก็ตาม (เบื้องต้นมีนักท่องเที่ยวจีนเดือน ต.ค. ประมาณ 290,000 คน เป็นสัดส่วนประมาณ 35% ของปี 19 เท่านั้น)
- โดยจำนวนผู้โดยสารที่ผ่านสนามบินของ AOT ในเดือน ต.ค. เบื้องต้อยู่ที่ 9 ล้านคน (+29%YoY,+16%MoM)
แผนขยายสนามบินยังเหมือนเดิม
- สำหรับแผนการขยายสนามบินยังคงเป็นไปตามแผนเดิม คือปัจจุบันอยู่ระหว่างก่อสร้างรันเวย์ที่ 3 ที่สนามบินสุวรรณภูมิคาดเปิดทำการได้ในปี 24 นี้ ส่วนการก่อสร้างส่วนต่อขยายฝั่งตะวันออกที่สนามบินสุวรรรภูมิคาดว่าเริ่มสร้างปี 24 เปิดดำเนินงานปี 26 สนามบินดอนเมืองเฟส 3 คาดว่าจะเริ่มก่อสร้างได้ในช่วง 25 เปิดดำเนินงานปี 28
- ด้านการให้ส่วนลดพิเศษค่าขึ้นลงสนามบิน 175 บาทสำหรับผู้โดยสารที่เพิ่มขึ้น 1 คน สำหรับสายการบิน เป็นการให้ส่วนลดในกรณีที่สายการบินมีการเปิดเที่ยวบินเพิ่มนอกเหนือจากที่ขออนุมัติกับทาง AOT สำหรับตารางบินฤดูหนาว ซึ่งจะไม่กระทบกับเที่ยวบินที่บินอยู่ในปัจจุบันแต่อย่างใด
ค่าใช้จ่ายพนักงานเพิ่มทำให้เราปรับกำไรปี 24 ลงเล็กน้อย
- แม้เราจะยังคงเป้าจำนวนผู้โดยสารทั้งปีไว้ที่ระดับเดิมคือ 140 ล้านคน แต่ด้วยค่าใช้จ่ายพนักงานที่เพิ่มขึ้นในปี 23 ทำให้เราปรับ ค่าใช้จ่ายในปี 24 ขึ้น ส่งผลให้กำไรสุทธิใหม่ลดลงจากประมาณการเดิมเล็กน้อยมาอยู่ที่ 27,735 ล้านบาท (+216%YoY)
- เรายังคงคำแนะนำ “ซื้อ” เช่นเดิม เพราะมองว่า AOT เป็นผู้ได้รับผลดีจากการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยว โดยประเมินมูลค่าเหมาะสมปี 24 ได้ใหม่ที่ 78 บาท (40XPER’24E)
Revenue breakdown
โครงสร้างรายได้ของ AOT สามารถแบ่งได้เป็น 2 กลุ่มคือ 1.กลุ่มที่เกี่ยวกับการบิน (Aero) แบ่งได้เป็น ค่าบริการสนามบิน, ค่าบริการผู้โดยสารขาออก, ค่าเครื่องอำนวยความสะดวก และ 2.กลุ่มที่ไม่เกี่ยวกับการบิน (Non-Aero)ได้แก่ ค่าเช่าสำนักงานและอสังหาริมทรัพย์ รายได้เกี่ยวกับการบริการ และรายได้ส่วนแบ่งผลประโยชน์ ขณะที่ผู้โดยสารส่วนใหญ่เป็นผู้โดยสารเส้นทางระหว่างประเทศเป็นหลัก