บล.บัวหลวง:
BYD (BYD TB / BYD.BK)
BYD – ยังมีความผันผวนจากสภาพตลาดที่ไม่แน่นอน
เรามองว่าผลประกอบการของ BYD มีโอกาสที่จะปรับตัวดีขึ้นในปีหน้า จากธุรกิจหลักทรัพย์แต่ยังมีความไม่แน่นอนในการทำกำไรของธุรกิจ รถบัสไฟฟ้า หากอิงฐานกำไรใน 3Q23 เป็นฐาน เราคาดกำไรปี 2024 ที่ 400 ล้านบาท (ปัจจัยสนับสนุนหลักมาจากธุรกิจการปล่อยสินเชื่อที่คาดจะยังมีอัพไซด์) ราคาปัจจุบันเทรดที่ระดับ Forward PER ที่ 51 เท่า สูงกว่าค่าเฉลี่ยกลุ่มไฟแนนซ์ที่ 17 เท่า กลุ่มโบรกเกอร์ที่ 13 เท่า และหุ้น EV อย่าง NEX ที่ 17 เท่า
ผลประกอบการ 3Q23 พลิกเป็นกำไร YoY และ QoQ
สรุปผลประกอบการใน 3Q23: BYD รายงานกำไรสุทธิที่ 93 ล้านบาท พลิกเป็นกำไร YoY และ QoQ ปัจจัยหนุนหลักมาจากรายได้ดอกเบี้ยที่เพิ่มขึ้นซึ่งส่วนใหญ่ เกิดจากดอกเบี้ยรับของสินเชื่อให้กู้ยืมแก่บริษัท ไทย สมายล์ บัส จำกัด (TSB) โดย BYD ได้ปล่อยกู้ไปแล้วราว 8,550 พันล้านบาท อัตราดอกเบี้ยที่ 6% นอกจากนั้น บริษัทยังมีการหยุดรับรู้ส่วนแบ่งขาดทุนจาก TSB เนื่องจากบริษัทรับรู้ส่วนแบ่งขาดทุนดังกล่าวจนครบส่วนของทุนที่ได้ลงทุนแล้ว (แม้ว่า TSB ยังคงขาดทุนอยู่) สำหรับธุรกิจหลักทรัพย์ของ BYD ยังโตดีต่อเนื่องจากรายได้ค่าธรรมเนียม และบริการเพิ่มขึ้นจากการจัดจำหน่ายหลักทรัพย์ ค่าธรรมเนียม จากการบริหารกองทุนส่วนบุคคล และค่าธรรมเนียมจากการเป็นตัวแทนขายหน่วยลงทุน
แนวโน้ม 4Q23 ธุรกิจหลักทรัพย์มีความผันผวน
สำหรับแนวโน้ม 4Q23 ค่าเฉลี่ยมูลค่าซื้อขายต่อวันของตลาดหลักทรัพย์อยู่ที่ 4.6 หมื่นล้านบาท QTD น้อยกว่าค่าเฉลี่ยมูลค่าซื้อขายต่อวันใน 3Q23 ที่ 50,919 ล้านบาท หรือปรับตัวลดลง 10% อีกทั้งในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาปรับตัวลดลงไปต่ำกว่า 4 หมื่นล้านบาทต่อวันจากความเชื่อมั่นของนักลงทุนรายย่อยที่ลดลง เราคาดรายได้จากธุรกิจหลักทรัพย์ยังคงจะมีความผันผวนอยู่ ในส่วนของรายได้ค่าธรรมเนียมและบริการมีแนวโน้มที่ดีขึ้นจาก AUA (asset under advice) โดยบริษัทยังคงตั้งเป้าหมายที่ 6,000 ล้านบาทในปีนี้ (ใน 3Q23 อยู่ที่ 4,470 ล้านบาท) อย่างไรก็ตามรายได้จากการจัดจำหน่ายหลักทรัพย์มีโอกาสลดลงเนื่องจากสภาพตลาดที่ไม่เอี้ออำนวย ทำให้แผนงานการนำบริษัทเข้าจดทะเบียน IPO ของบางบริษัทมีการเลื่อนออกไป โดยรวมเราประเมินกำไรหลักใน 4Q23 จะพลิกเป็นกำไร YoY (การหยุดรับรู้ส่วนแบ่งขาดทุนจาก TSB) แต่ปรับตัวลดลง QoQ
แนวโน้มปี 2024 คาดปรับตัวดีขึ้น
ภาพสำหรับปี 2024 บริษัทคาดการเติบโตของ AUA ต่อเนื่องจากปีนี้ หนุนจากการขยายกลุ่มลูกค้าบริษัทมหาชนที่มากขึ้น อีกทั้งสภาวะตลาดที่มีโอกาสคงที่มากขึ้น หรืออาจจะผ่านจุดต่ำสุดและจะสร้างโมเมนตัมของการฟื้นตัวของธุรกิจหลักทรัพย์ ในส่วนของ TSB ยังคงอยู่ในเฟสลงทุนในช่วง 7 ปีตั้งแต่ปี 2021-2027 (คาดยังไม่เห็นกำไรในระยะสั้น) แต่เราประเมินรายได้ดอกเบี้ยจากธุรกิจปล่อยสินเชื่อมีโอกาสจะปรับตัวเพิ่มขึ้น โดยในปีหน้ามี TSB มีแผนลงทุนรถบัสไฟฟ้าเพิ่มอีกราว 900 คัน คิดเป็นมูลค่ากว่า 4,800 ล้านบาท นอกจากนั้นยังมีแผนการขยายรถบัสร้อนอีกกว่า 220-250 คัน (ปัจจุบันให้บริการ 10 เส้นทาง) งบลงทุน 1,500 ล้านบาท นอกจากนี้ TSB ยังมีโครงการใหญ่ในอนาคต ซึ่งอยู่ระหว่างการเตรียมความพร้อมเพื่อลงทุนเพิ่ม