บล.กรุงศรีฯ:

BANKING SECTOR – เจาะประเด็นมาตรการช่วยลูกหนี้รายย่อยของภาครัฐ (NEUTRAL)

  • What’s new

จากการประเมินในเบื้องต้นตามสมมติฐานและข้อมูลที่เผยแพร่ในช่วงเวลานี้ คาดมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้ของภาครัฐจะเข้ามาเพิ่ม GDP ได้ประมาณ 0.24% ในปี 2024F

  • Analysis

คาดการณ์มาตรการจะช่วยเพิ่ม GDP ประมาณ 0.24%

กลุ่ม 1) ลูกหนี้รายย่อยจากสถานการณ์โควิด-19 และ SME: คาดไม่ได้ทำให้ GDP เพิ่มขึ้น เนื่องจากลูกหนี้ 1 ล้านคนที่เป็น NPL จากสินเชื่อฉุกเฉินโควิด 10,000 บาท จากธนาคารออมสินและธกส.นั้น รัฐบาลอาจจะมีการยกหนี้ที่เสียให้ เนื่องจากรัฐบาลได้กันวงเงินเพื่อชดเชยความเสียหายไว้แล้วครึ่งหนึ่งของวงเงินทั้งหมดที่ 30,000 ล้านบาท ส่วนลูกหนี้ NPL ที่เป็น SME 100,000 ราย จะมีการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ ลดดอกเบี้ย และพักชำระหนี้ฯ รวมถึงยกเลิกสถานะหนี้เสีย NPL เพื่อทำให้สามารถทำธุรกิจต่อไปได้ และไม่ติด blacklist

กลุ่ม 2) ลูกหนี้ที่เป็นข้าราชการที่มีรายได้ประจำ: คาดจะช่วยเพิ่ม 0.24% ใน GDP ปี 2024 จากสมมติฐานของเราที่ทำให้มีเงินเดือนเหลือใช้เพิ่มขึ้นประมาณ 20% จากข้าราชการครู 9 แสนคนที่เป็นหนี้ และมีเงินเดือนเหลือใช้ไม่ถึง 30% ซึ่งทางภาครัฐจะเข้ามาช่วยให้หักเงินเพื่อชำระหนี้ไม่เกิน 70% ของเงินเดือน ปรับโครงสร้างหนี้ ยืดอายุการใช้หนี้ไปได้ถึงอายุ 75 ปี และลดดอกเบี้ยฯ

กลุ่ม 3) กลุ่มเกษตกรและหนี้กยศ. คาดไม่ได้ทำให้ GDP เพิ่มขึ้น เนื่องจากโครงการดังกล่าวมีเกษตรกรเข้าร่วมแล้วกว่า 1.5 ล้านราย เหลืออีกประมาณ 5 แสนรายจากเป้า 2 ล้านราย ที่จะได้รับการช่วยเหลือในการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ ส่วนลูกหนี้กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) ที่จะมีการปรับปรุงหนี้จะเริ่มจากการตัดเงินต้นก่อน ตามมาด้วยดอกเบี้ย และค่าปรับเพื่อให้เงินต้นลดลงได้เร็ว และจะมีการปรับลดอัตราดอกเบี้ยค่าปรับลงเหลือ 0.5% จาก 7.5% ทั้งนี้เราประเมินผลบวกต่อ GDP จากการปรับลดอัตราดอกเบี้ยค่าปรับจะอยู่ที่ 0.15% ของ GDP ปี 2024 อย่างไรก็ตาม เราไม่คาดจะเห็นผลในปีหน้า เนื่องจากกระบวนการน่าจะใช้เวลานานกว่าจะได้รับประโยชน์ในส่วนดังกล่าว

กลุ่ม 4) กลุ่มหนี้เสียคงค้างกับสถาบันการเงินของรัฐมาเป็นระยะเวลานาน คาดไม่ได้ทำให้ GDP เพิ่มขึ้น เนื่องจากขั้นต้อนจะกินเวลานาน ขณะที่จะมีการจัดตั้งบริษัทร่วมทุนระหว่างสถาบันการเงินของรัฐและบริษัทบริหารสินทรัพย์ ขณะที่ปัจจุบันได้มีการโอนหนี้เสียไปยังบริษัทบริหารสินทรัพย์ SAM อยู่แล้ว

Action/Implication

เรามีมุมมอง Neutral ต่อกุล่มธนาคารและคาดผลกระทบในวงจำกัด แต่มองว่ามาตรการหากเกิดผลสำเร็จ จะช่วยกระตุ้นภาพรวมเศรษฐกิจได้ และป้องกันการเกิดผลกระทบต่อเนื่องในวงกว้าง (domino effect) จากปัญหาหนี้สินครัวเรือนเรื้อรังและ NPL ได้ ทั้งนี้ สมมติฐานในบทวิเคราะห์นี้เป็นเพียงการประเมินผลกระทบเบื้องต้นจากข้อมูลที่เผยแพร่เท่านั้น และยังต้องมีการปรับปรุงตัวเลขผลกระทบ หลังมาตรการดังกล่าวได้ผ่านครม. ดังนั้นเราจึงยังต้องรอรายละเอียดสุดท้ายอย่างเป็นทางการ (final detail) รวมถึงช่วงเวลา (timeline) ที่จะนำมาตรการมาปรับใช้อีกครั้ง นอกจากนี้เราคาดูว่าไม่ใช่ทุกคนที่เป็นลูกหนี้ในกลุ่มดังกล่าวจะผ่านเงื่อนไข กฎเกณฑ์ที่จะเข้าร่วมได้ ท้ายสุดนี้เราเชื่อว่าการแก้ไขปัญหาหนี้ครัวเรือนเรื้อรังต้องการความร่วมมือในทุกภาคส่วน ไม่ใช่ปัญหาของใครคนใดคนหนึ่ง เท่านั้น เราเล็งเห็นความสำคัญในการเพิ่มความรู้ทางด้านการใช้เงินและความมีวินัยทาง การเงินอาจจะเป็นวิธีการแก้ไขปัญหาในระยะยาวสำหรับประเทศไทยอย่างแท้จริง

- Advertisement -