บล.กรุงศรีฯ:

BANKING SECTOR – หลักเกณฑ์การให้สินเชื่ออย่างรับผิดชอบและเป็นธรรม (UNRATED)

  • What’s new

จากที่ทางธนาคารแห่งประเทศไทยได้จัดการรับฟังความคิดเห็นสำหรับร่างหลักเกณฑ์ การให้สินเชื่ออย่างรับผิดชอบและเป็นธรรม หรือ Responsible Lending (RL) ไปในช่วงก.ย.-ต.ค. 66 นั้น หลักเกณฑ์บางอย่างจะมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 2567 เป็นต้นไป เว้นแต่หลักเกณฑ์เรื่องการให้ความช่วยเหลือลูกหนี้ที่มีปัญหาเรื้อรัง (Persistent Debt) ให้เริ่มมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย. 2567 เป็นต้นไป ทั้งนี้เพื่อแก้ไขปัญหาหนี้ครัวเรือนอย่างยั่งยืน

  • Analysis

เรามองร่างหลักเกณฑ์การให้สินเชื่ออย่างรับผิดชอบและเป็นธรรมนี้เป็นข่าวดีสำหรับลูกหนี้ เพื่อที่จะได้รับการแก้ไขได้ตรงจุด เน้นการแก้หนี้ระยะยาว และไม่สร้างภาระเพิ่ม ขณะที่ไม่ลดโอกาสในการเข้าถึงสินเชื่อ แต่เรามองผลกระทบในวงจำกัดต่อหุ้นกลุ่ม Bank ส่วนใหญ่เพราะหลักเกณฑ์จะมุ่งเน้นช่วยเหลือลูกหนี้รายย่อยและ SMÈ ไม่ให้กลายเป็นหนี้เสีย โดยผ่านกระบวนการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ ดังนั้นเรามองว่าอัตราส่วน NPL จะอยู่ในระดับที่ควบคุมได้ เนื่องจากหลักเกณฑ์ดังกล่าวจะเป็นการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ ยึดเวลาไม่ให้หนี้ตกชั้นไปเป็นหนี้เสียหรือ NPL เรามีมุมมอง Neutral ต่อ Bank แต่เราคาดหุ้นกลุ่ม Finance จะได้รับแรงกดดันจากการถูกควบคุมจากกฎต่างๆ ขณะที่ยังต้องรอรายละเอียดเพิ่มเติม รวมถึงสัดส่วนลูกหนี้ที่จะเข้าร่วมในหลักเกณฑ์ Responsible Lending ดังกล่าวต่อไป

สำหรับข้อมูลเพิ่มเติมตามร่างหลักเกณฑ์การให้สินเชื่ออย่างรับผิดชอบและเป็นธรรมมีดังนี้

1. ผู้ให้บริการต้องจัดทำและควบคุมโฆษณาให้มีเนื้อหาที่ “ถูกต้องและชัดเจน” “ครบถ้วนและเปรียบเทียบเงื่อนไขและอัตราดอกเบี้ยค่าธรรมเนียมต่างๆ ได้” และ “ไม่กระตุ้นให้ก่อหนี้เกินควร” ซึ่งจะมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 2567 เป็นต้นไป

2. ผู้ให้บริการต้องมีแนวทางช่วยเหลือลูกหนี้ที่เหมาะสม เป็นธรรม ติดตามใกล้ชิด และเมื่อเริ่มมีสัญญาณว่าลูกหนี้กำลังประสบปัญหาในการชำระหนี้ ผู้ให้บริการจะต้องเสนอการปรับปรุงโครงสร้างหนี้แบบ pre-emptive ให้แก่ลูกหนี้ที่เริ่มมีปัญหาการชำระหนี้แต่ยังไม่เป็นลูกหนี้ด้อยคุณภาพ (NPL) อย่างน้อย 1 ครั้ง และการเสนอปรับปรุงโครงสร้างหนี้ที่มีปัญหาหรือ Troubled Debt Restructuring (TDR) สำหรับลูกหนี้ด้อยคุณภาพ (NPL) ซึ่งรวมถึงกรณีที่ลูกหนี้ถูกตัดออกจากบัญชี (write-off) แล้วโดยเร็วอย่างน้อย 1 ครั้ง โดยเฉพาะก่อนการดำเนินคดีและ การโอนขายหนี้ ทั้งนี้ผู้ให้บริการจะบอกเลิกสัญญา ดำเนินคดี ยึดทรัพย์ หรือโอน ขายหนีไปยังเจ้าหนี้อื่น เมื่อได้ให้ความช่วยเหลือลูกหนี้ด้วยวิธีอื่นอย่างที่สุดแล้ว (last resort) ผู้ให้บริการต้องไม่โอนขายลูกหนี้ที่อยู่ระหว่างเจรจาปรับปรุงโครงสร้างหนี้ โดยกำหนดระยะเวลาให้ลูกหนี้ตัดสินใจรับเงื่อนไขการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ดังกล่าวภายใน 60 วัน และหลักเกณฑ์นี้ให้ใช้บังคับกับสินเชื่อSME ด้วย

3. หนีเรื้อรัง หรือ Persistent Debt (PD) คือลูกหนี้ที่ไม่เป็นหนี้ที่ด้อยคุณภาพ (NPL) แต่จำนวนเงินที่ลูกหนี้จ่ายชำระหนี้ถูกนำไปชำระดอกเบี้ยมากกว่าเงินต้นมาเป็นเวลานาน สำหรับกลุ่มลูกหนี้สินเชื่อส่วนบุคคลประเภทหมุนเวียน (revolving personal loan) ที่มีรายได้ต่ำกว่า 20,000 บาท โดยเสนอทางเลือกให้ลูกหนี้สามารถปิดจบหนี้ได้ภายใน 5 ปี ด้วยอัตราดอกเบี้ยไม่เกิน 15% ต่อปี จะมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย. 2567 เป็นต้นไป

 

- Advertisement -