บล.พาย:

TISCO Tisco Financial Group PCL

เน้นการเติบโตอย่างมีคุณภาพในปี 2024

เราคงคำแนะนำ “ถือ” ด้วยมูลค่าพื้นฐานที่ 103 บาท โดยกำไรสุทธิใน 4Q23 ออกมาสอดคล้องกับคาดการณ์ที่ 1.8 พันล้านบาท (-1.4% YoY, -5% QoQ) ทำให้กำไรสุทธิในปี 2023 เพิ่มขึ้น 1.1% ที่ 7.3 พันล้านบาท หลังจากเข้าร่วมการประชุมนักวิเคราะห์ เราปรับประมาณการกำไรสุทธิลดลงราว 4% ในปี 2024-25 โดยคาดว่ากำไรสุทธิจะลดลงเล็กน้อย 0.4% YoY ในปี 2024 และกลับมาเติบโต 1.8% ในปี 2025 ขณะที่ราคาหุ้นยังไม่น่าถึงดูดมากนัก ซื้อขายที่ 1.85x PBV’24E แนะนำ “ถือ” เพื่อรับเงินปันผล โดยคาดว่าอัตราผลตอบแทนเงินปันผลสูงสุดในกลุ่มธนาคารที่ 7.7% ในปี 2024

การประชุมนักวิเคราะห์

  • กลยุทธ์การเติบโตปี 2024 มุ่งเน้นการเติบโตอย่างมีคุณภาพ และขยายสินเชื่ออย่างระมัดระวัง ทำให้สินเชื่อเติบโตชะลอลงจากในปี 2023 ทั้งนี้ TISCO มุ่งเน้น 3 ด้าน คือ (1) สินเชื่อจำนำทะเบียนผ่านสาขา “สมหวัง เงินสั่งได้” มีแผนจะขยายสาขาเพิ่ม 200 แห่ง (2) ธุรกิจให้คำปรึกษาการเงินและการลงทุน รุกกลุ่ม Mass Affluent และ (3) ธุรกิจนายหน้าประกันภัย พัฒนาผลิตภัณฑ์ตอบโจทย์การวางแผนบริหารความเสี่ยงของลูกค้าแต่ละกลุ่มผ่านความร่วมมือกับพันธมิตรทางธุรกิจเพื่อส่งมอบผลิตภัณฑ์ที่ดีที่สุดแก่ลูกค้า
  • ธุรกิจเช่าซื้อรถยนต์ยังต้องใช้เวลาปรับตัวจากอุปทานรถยนต์ที่เพิ่มขึ้น ราคารถยนต์มือสองที่ปรับลดลง ขณะที่การขยายตัวของรถยนต์ไฟฟ้า (EV Car) ยังมีข้อกังวลต่อการให้บริการหลังการขาย และมูลค่าของรถยนต์ EV ที่ใช้แล้วในระยะยาว นอกจากนี้ อัตราผลตอบแทนของสินเชื่อยังไม่น่าจูงใจ ทำให้ TISCO ระมัดระวังในการขยายสินเชื่อในกลุ่มนี้
  • ผลกระทบจากวัฏจักรดอกเบี้ยขาขึ้น ทำให้ต้นทุนการเงินจะเร่งตัวสูงขึ้น กดดันให้ NIM มีแนวโน้มลดลงในปี 2024 และจะกลับมาทรงตัวได้ในปี 2025 ด้าน Cost to income ratio ในปี 2024 จะสูงไม่เกินในปี 2023
  • TISCO มีสำรองหนี้ฯ ส่วนเกินเหลืออยู่ทำให้ Credit costs จะทยอยกลับสูงระดับปกติที่ 100 bps ในอีก 2-3 ปีข้างหน้า โดยคาดว่า NPL ratio จะไม่เกิน 2.5% ในปี 2024 และมีความยืดหยุ่นในการบริหาร Coverage ratio เพราะยังสูงกว่าค่าเฉลี่ยของกลุ่มธนาคาร

คาดการเติบโตของกำไรจะชะลอตัวในปี 2024-25

  • เรามองว่าปี 2024 จะยังเป็นปีที่ท้าทายของ TISCO จาก (1) หนี้ด้อยคุณภาพในสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ทำให้การขยายสินเชื่อจะชะลอตัว (2) ต้นทุนการเงินเร่งตัวสูงขึ้นกดดัน NIM และ (3) ค่าใช้จ่ายสำรองหนี้ฯ สูงขึ้นล้อกับการขยายสินเชื่อกลุ่ม High yield โดยเราปรับลดคาดการณ์กำไรสุทธิในปี 2024-25 ลดลงราว 4% ทำให้คาด ว่ากำไรสุทธิในปี 2024 จะปรับลดลงเล็กน้อย 0.4% YoY และจะกลับมาเติบโต 1.8% ในปี 2025
  • TISCO มีระดับเงินกองทุนแข็งแกร่งจะสามารถคง Dividend payout ratio สูงที่ 85% ได้ ทำให้ TISCO ยังคงจุดเด่นที่ให้อัตราผลตอบแทนเงินปั่นผลสูงสุดในกลุ่มธนาคาร

คงคำแนะนำ “ถือ” แต่ปรับลดมูลค่าพื้นฐานเหลือ 103 บาท

เราปรับลดมูลค่าพื้นฐานเหลือ 103 บาท จาก 106 บาท สะท้อนการปรับประมาณการกำไรสุทธิลดลง โดยประเมินมูลค่าด้วยวิธี GGM (ROE 16.8%, Terminal growth 2%) อิง 1.9x PBV’24E หรือ +0.75SD ของค่าเฉลี่ย 10 ปี (2014-2023)

สรุปผลการดำเนินงานใน 4Q23 และปี 2023

  • กำไรสุทธิงวด 4Q23 ออกมาสอดคล้องกับประมาณการของเราที่ 1.8 พันล้านบาท (-1.4% YoY, -5% QoQ) แม้รายได้ดอกเบี้ยสุทธิ (NII) จะขยายตัวจากการเติบโตของสินเชื่อ และค่าใช้จ่ายสำรองหนี้ฯ ลดลง แต่กำไรสุทธิปรับลดลง 1.4% YoY เนื่องจากผลขาดทุนจากสุทธิจากเครื่องมือทางการเงินที่วัดด้วยมูลค่ายุติธรรมผ่านกำไรหรือขาดทุน (FVTPL) และค่าใช้จ่ายการดำเนินงาน (OPEX) สูงขึ้นจากการขยายธุรกิจ ขณะที่กำไรสุทธิลดลง 5% QoQ เพราะค่าใช้จ่ายสำรองหนี้ฯ และค่าใช้จ่ายดำเนินงานเพิ่มขึ้น
  • กำไรสุทธิในปี 2023 อยู่ที่ 7.3 พันล้านบาท (+1.1% YoY) เติบโตขึ้นเล็กน้อย เพราะแม้ NII เพิ่มขึ้น และสำรองหนี้ฯ ลดลง แต่ถูกลดทอนด้วยรายได้ค่าธรรมเนียมที่ลดลง และ OPEX สูงขึ้น โดยขยายสาขาสำนักอำนวยสินเชื่อ “สมหวัง เงินสั่งได้” เพิ่ม 195 สาขาในปี 2023 รวมมีจำนวนสาขาทั้งสิ้น 645 สาขาทั่วประเทศ
  • NIM ใน 4Q23 ปรับลดลง QoQ ที่ 5.2% จากการเร่งตัวขึ้นของต้นทุนทางการเงิน ส่งผลให้ NIM เฉลี่ยในปี 2023 ทรงตัวจากปี 2022 ที่ 5% ด้าน Cost to income ratio (CIR) ทรงตัว Q0Q ที่ 48.5% เพราะรายได้การดำเนินงานที่เพิ่มขึ้นถูกลดทอนด้วย OPEX ที่เพิ่มขึ้น ทำให้ CIR เฉลี่ยในปี 2023 เพิ่มเป็น 49% (2022: 47.1%)
  • สินเชื่อใน 4Q23 ขยายตัว 1.3% QoQ ทำให้สินเชื่อในปี 2023 โต 7.2% YoY หนุนจากสินเชื่อธุรกิจขนาดใหญ่ สินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ใช้แล้ว และสินเชื่อจำนำทะเบียน
  • คุณภาพสินเชื่อทรงตัว NPL ratio อยู่ที่ 2.2% และอัตราส่วนการตั้งสำรองหนี้ฯ ต่อหนี้เสีย (Coverage ratio) ลดลงที่ 189.8% ใน 4023 ส่วนหนึ่งจากการตัดจำหน่ายหนี้เสียสินเชื่อที่อยู่อาศัยรวม 370 ล้านบาท แต่ Coverage ratio ยังสูงเพียงพอจะรับมือกับหนี้เสียที่จะยังมีแนวโน้มสูงขึ้นในปี 2024
- Advertisement -