บล.เอเซีย พลัส:

CPALL คาดกำไรสุทธิ 4Q66 โตเด่น

คาด CPALL จะมีกำไรสุทธิงวด 4Q66 ที่ 4.8 พันล้านบาท (+9% QoQ, +53% YoY) โดยกำไรที่โต QoQ เพราะรายได้เพิ่มจากทุกธุรกิจในช่วง high season ส่วนกำไรที่โต YoY เพราะรายได้ยังโตได้ดี ขณะที่ค่าใช้จ่ายขายและบริหาร/ยอดขายลดลง เมื่อเทียบกับ 4Q65 ที่มีการจ่ายโบนัสพนักงานพิเศษ หากกำไร 4Q66 ออกมาอย่างคาด เชื่อว่าจะมี upside จากประมาณการกำไรทั้งปี 2566 ของเราเพียง 3% ทำให้เราคงประมาณการกำไรปี 2566 – 2567 ไว้ตามเดิมที่ 1.68 – 1.99 หมื่นล้านบาท และคงราคาเป้าหมายปี 2567 ที่ 77.00 บาท (อิง PER 34.8 เท่า) รวมทั้งคงคำแนะนำ “Outperform” เพราะ 1) ระยะสั้นมีปัจจัยหนุนจากกำไร 4Q66 ที่จะออกมาดีทั้ง QoQ และ YoY, 2) มีปัจจัยหนุนใน 1Q67 จาก Easy E-receipt และ 3) ราคาหุ้นปรับลงถึง 5% YTD ขณะที่หุ้นกลุ่มพาณิชย์ลดลง 2%

คาดกำไร 4Q66 โตได้ดีทั้ง QoQ และ YoY

ฝ่ายวิจัยประเมินว่า CPALL จะมีกำไรสุทธิงวด 4Q66 ที่ 4.8 พันล้านบาท (+9% QoQ, +53% YoY) โดยกำไรที่คาดจะโตขึ้น QoQ เป็นเพราะ

1) คาดรายได้ขายและบริการจะเพิ่มได้ราว 5% QoQ จากผลของฤดูกาลที่ช่วยหนุนยอดขายสินค้าของทุกธุรกิจ ทั้งจากธุรกิจร้านสะดวกซื้อ (7-Eleven), ธุรกิจค้าส่ง (MAKRO) และธุรกิจค้าปลีก (Lotus’ s) โดย 7-Eleven จะได้รับประโยชน์โดยเฉพาะการขายสินค้าพร้อมทาน (Ready to eat) และของใช้ส่วนตัว (Personal care) ในสาขาที่เป็นแหล่งท่องเที่ยว เพราะปลายปีเป็นช่วงที่นักท่องเที่ยวทั้งต่างชาติและชาวไทยมีการเดินทางกันมากขึ้น ส่วน MAKRO และ Lotus’ s ได้ประโยชน์จากช่วงเทศกาลเฉลิมฉลองส่งท้ายปี หนุนยอดขายสินค้าทั้งอาหารสด และการจับจ่ายซื้อของขวัญ

2) อัตรามาร์จิ้นรวมคาดจะทรงตัว QoQ ที่ 21.8% แม้คาด 7-Eleven จะมีสัดส่วนการขาย Ready to eat และ Personal care ซึ่งสร้างอัตรามาร์จิ้นได้สูง แต่จะถูกหักล้างจากการขายสินค้าประเภทเหล้า เบียร์ ซึ่งมีมาร์จิ้นต่ำ

ทั้งนี้หากเทียบ YoY กำไรจะโตได้แรง เมื่อเทียบกับฐานต่ำใน 4Q65 ที่มีการจ่ายโบนัสพนักงาน หลังจากไม่ได้จ่ายเลยตลอด 3 ปี ในช่วงที่โควิดระบาด นอกจากนี้ กำไร 4Q66 ยังได้แรงหนุนจากรายได้การขายและบริการที่เพิ่มขึ้น (+6% YoY) จากการเติบโตของยอดขายสาขาเดิม (SSSG) ของ 7-Eleven, และกลุ่ม MAKRO ที่คาดจะโตได้ราว 2.5% และ 3.5% ตามลำดับ บวกกับการเปิดสาขาใหม่ ซึ่งรายได้ที่เพิ่มนี้มากพอจะชดเชยทั้งต้นทุน รวมทั้งค่าใช้จ่ายขายและบริหารที่สูงขึ้น

ราคาหุ้นปรับลด จนซื้อขายด้วย PER ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยในอดีต

ราคาหุ้นปัจจุบันซื้อขายด้วย PER ปี 2567 ที่ 24 เท่า หรือ ลดลงเกือบ 2.0 S.D จากค่าเฉลี่ยช่วง 5 ปี (ปี 2561 – 2565) ที่กำไรลดลงด้วยอัตราเฉลี่ย 8% เพราะกำไรปี 2563 – 2565 ได้รับผลกระทบของโควิด 19 และเริ่มฟื้นตัวในปี 2566 ขณะที่คาดกำไรปี 2567 ยังเติบโตได้ดีกว่าค่าเฉลี่ยที่ผ่านมา โดยคาดจะโตในอัตรา 19% YoY นอกจากนี้ราคาหุ้นยังตกต่ำมากกว่าค่าเฉลี่ยของหุ้นในกลุ่มพาณิชย์ โดยล่าสุด หุ้น CPALL มีราคาที่ลดลง 5% YTD ขณะที่หุ้นในกลุ่มลดลงเพียง 2%

คงประมาณการกำไร คงคำแนะนำ “Outperform”

หากกำไรงวด 4Q66 เป็นไปอย่างคาด เชื่อว่ากำไรปกติโดยรวมทั้งปีจะมี upside จากประมาณการของเรา เพียง 2% – 3% ทำให้เรายังคงคาดการณ์กำไรสำหรับปี 2566 – 2567 ไว้ที่ 1.68 หมื่นล้านบาท (+26% YoY) และ 1.99 หมื่นล้านบาท (+19% YoY) ตามลำดับ โดยยังคงราคาเป้าหมายปี 2567 ที่ 77.00 บาท (คงการอิง PER ที่ 34.8 เท่า) และคงคำแนะนำ “Outperform” สำหรับ CPALL เนื่องจาก 1) ระยะสั้นมีปัจจัยบวกจากกำไรที่ออกมาดีใน 4Q66, 2) ระยะถัดไปใน 1Q67 มีแรงหนุนจากมาตรการ “Easy E-receipt” และ 3) ราคาหุ้นซื้อขายด้วย PER ปี 2567 เพียง 24 เท่า ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยช่วง 3 ปี ที่ผ่านมา (-2.0 S.D) อีกทั้งราคาหุ้นปรับลดลงถึง 4% YTD มากกว่าค่าเฉลี่ยของหุ้นกลุ่มพาณิชย์

การดำเนินการด้าน ESG ของ CPALL

Environment (E): บริษัทฯ มุ่งดำเนินงานและขยายธุรกิจบนพื้นฐานความรับผิดชอบด้านสิ่งแวดล้อม โดยส่งเสริม ป้องกัน รักษา และลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมภายใต้กรอบกลยุทธ์ “เซเว่น โก กรีน (7 Go Green)” ประกอบด้วย 4 ประเด็นสำคัญ ได้แก่ 1) การบริหารจัดการร้าน อย่างเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม (Green Store) 2) การดำเนินงานด้านการขนส่งและการกระจายสินค้าที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม (Green Logistic) 3) การจัดการบรรจุภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม (Green Packaging) และ 4) การปลูก จิตสำนึกรักษ์สิ่งแวดล้อม (Green Living)

Social Contribution(S): บริษัทฯ เล็งเห็นถึงความสำคัญของสังคมที่เป็นส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนไปสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน โดยมุ่งเน้นการดำเนินงานด้านการศึกษาและให้คุณค่าทางสังคมที่สอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนของโลก (UN SDGs) ผ่านการ สนับสนุนเด็ก เยาวชน ผู้ใหญ่ รวมถึงกลุ่มเปราะบางให้เข้าถึงการศึกษาทั้งในระบบและนอกระบบ และส่งเสริมทักษะ ที่จำเป็นต่อประกอบอาชีพ

Governance (G): บริษัทฯ จัดทำนโยบายการกำกับดูแลกิจการ (Corporate Governance Policy) แนวปฏิบัติด้านการกำกับดูแลกิจการสำหรับคณะกรรมการบริษัท สำหรับผู้บริหารและพนักงาน สำหรับหน่วยงานสนับสนุน
การกำกับดูแลกิจการ และสำหรับสำนักตรวจสอบบริษัทฯ มีการทบทวนปรับปรุงแก้ไขให้มีความทันสมัยต่อเหตุการณ์ สอดคล้องกับกฎหมายและระเบียบข้อบังคับของหน่วยงานภาครัฐและองค์กรที่ทำหน้าที่กำกับดูแลบริษัทฯ และแนวปฏิบัติสากล ได้มาตรฐานเป็นที่ยอมรับอย่างสม่ำเสมอ โดยมีเนื้อหาที่ครอบคลุมทั้ง 5 หมวดหลัก ได้แก่ สิทธิของผู้ถือหุ้น การปฏิบัติต่อผู้ถือหุ้นอย่างเท่าเทียมกัน การคำนึงถึงบทบาทของผู้มีส่วนได้เสีย การเปิดเผยข้อมูล และความโปร่งใส และความรับผิดชอบของคณะกรรมการ

ประเด็นความเสี่ยง

  1. เศรษฐกิจที่ชะลอตัว เนื่องจากภาวะเงินเฟ้อ ส่งผลให้กำลังซื้อของผู้บริโภคลดลง
  2. การแข่งขันที่สูงในอุตสาหกรรม
  3. การแย่งลูกค้ากันเองของสาขาที่เปิดบริเวณใกล้เคียงกัน
- Advertisement -