บล.พาย:

SCB: SCBX PCL Valuation น่าสนใจ และเงินปันผลสูง

เราคงคำแนะนำ “ซื้อ” ด้วยมูลค่าพื้นฐานที่ 118 บาท SCB รายงานกำไรสุทธิสูงกว่าคาดที่ 11 พันล้านบาท (53.9% YoY, +13.8% QoQ) ส่งผลให้มีกำไรสุทธิปี 2023 สูงที่สุดในกลุ่มธนาคารที่ 43.5 พันล้านบาท (+15.9% YoY) หลังจากเข้าร่วมการประชุมนักวิเคราะห์ เรามองว่าในปี 2024 SCB ยังคงเน้นการดูแลคุณภาพสินเชื่อ ควบคุมต้นทุนการดำเนินงานอย่างมีประสิทธิภาพ และสร้างกลุ่มธุรกิจใหม่อย่างกลุ่มผู้บริโภค/ดิจิทัล (Gen 2) และกลุ่มแพลตฟอร์ม (Gen 3) ให้สามารถมีกำไรเพื่อช่วยแบ่งเบาภาระของกลุ่มธุรกิจธนาคาร เราคาดว่ากำไร สุทธิปี 2024 จะเติบโต 3.6% YoY และเร่งตัวขึ้น 7.3% ในปี 2025 แม้ว่าอัตราการเติบโตจะไม่โดดเด่นมากในปี 2024 เราชอบ SCB ที่มีอัตราผลตอบแทนเงินปั่นผลสูง โดยคาดว่าอัตราผลตอบแทนเงินปั่นผลที่ 7.7%/8.2% ในปี 2024-25 ขณะที่หุ้นซื้อขายที่เพียง 0.7x PBV’24E หรือ -1SD ของค่าเฉลี่ย 10 ปี

การประชุมนักวิเคราะห์

  • กลยุทธ์การเติบโตปี 2024 มุ่งเน้นการสร้างประสิทธิภาพของกลุ่มและยกระดับขีดความสามารถ (1) การเติบโต: ขับเคลื่อนธุรกิจและเติบโตต่อเนื่องในธุรกิจธนาคาร (Gen 1) ที่จะเป็นกลุ่มที่สนับสนุนหลัก โดยให้ความสำคัญต่อการควบคุมต้นทุนอย่างมีประสิทธิภาพ ขณะที่สินเชื่อผู้บริโภค/ดิจิทัล (Gen 2) จะสามารถสร้างกำไรในปี 2024 โดยธุรกิจ CARD X มุ่งเน้นการขยายสินเชื่อปรับปรุงประสิทธิภาพการติดตามหนี้ เพื่อลดค่าใช้จ่ายสำรองหนี้ฯ ขณะที่ AUTO X เน้นการขยายสินเชื่อ และพัฒนาผลิตภัณฑ์สินเชื่อ และประกันภัยผ่านช่องทางสาขา (2) ปรับเปลี่ยนไปสู่โมเดลที่มุ่งเน้นผลกำไรสำหรับ Gen 3:แพลตฟอร์ม Robinhood เป็นรูปแบบธุรกิจที่ใช้เงินจำนวนมาก ทาง SCB จะเปลี่ยนรูปแบบธุรกิจของ Robinhood ไปสู่รูปแบบธุรกิจที่มุ่งเน้นผลกำไร ลดเงินสนับสนุนอย่างมีนัย และ (3) การขับเคลื่อนอย่างมีประสิทธิภาพ: ลงทุนด้านเทคโนโลยีอย่างต่อเนื่องเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ
  • เป้าหมายทางการเงินในปี 2024 (1) สินเชื่อเติบโต 3-5% (2) ส่วนต่างดอกเบี้ยสุทธิ (NIM) ที่ 3.7-3.9% (3) อัตราการเติบโตของรายได้ค่าธรรมเนียมสุทธิ ที่ Low-mid single digit (4) Cost to income ratio ที่ 43-45% และ (5) อัตราส่วนผลขาดทุนด้านเครดิต ที่คาดว่าจะเกิดขึ้นต่อสินเชื่อ (Credit cost) ที่ 1.6-1.8%

คาดการเติบโตของกำไรจะชะลอตัวในปี 2024-25

  • เรามองว่าปี 2024 จะยังเป็นปีที่ SCB มุ่งเน้นเรื่องการดูแลคุณภาพสินเชื่อ ควบคุมต้นทุนการดำเนินงาน และสำรองหนี้ฯ นอกจากนี้กลุ่มผู้บริโภค/ดิจิทัล (Gen 2) และกลุ่มแพลตฟอร์ม (Gen 3) จะต้องช่วยแบ่งเบาภาระด้วยการสร้างกำไร เพราะ NIM ที่เป็นปัจจัยหลักหนุนการเติบโตของกำไรในปี 2023 จะขยายตัวลดลงในปี 2024 เราคาดว่ากำไรสุทธิจะเติบโตที่ 3.6% ในปี 2024 และเร่งตัวขึ้นเป็น 7.3% ในปี 2025

คงคำแนะนำ “ซื้อ” ด้วยมูลค่าพื้นฐาน 118 บาท

  • แนะนำ “ซื้อ” เนื่องจาก ความสามารถการทำกำไรที่สูงขึ้น และคาด อัตราผลตอบแทนเงินปันผลสูงที่ 7.7%/8.2% ในปี 2024-25 โดยประเมินมูลค่าพื้นฐานที่ 118 บาท คำนวณด้วยวิธี GGM (ROE 9.3%, TG 2%) อิงจาก 0.8x PBV’24E หรือ -0.75SD ต่อค่าเฉลี่ย 10 ปี

สรุปผลการดำเนินงานใน 4Q23 และปี 2023

  • กำไรสุทธิงวด 4Q23 ออกมาที่ 11.0 พันล้านบาท (+53.9% YoY, +13.8% QoQ) สูงกว่าที่คาดไว้ 35% เนื่องจากสำรองหนี้ฯ ต่ำกว่าคาด โดยแม้ว่ารายได้ค่าธรรทเนียมจะลดลงและสำรองหนี้ฯ เพิ่มขึ้น แต่กำไรสุทธิเติบโต YoY เนื่องจากรายได้ดอกเบี้ยสุทธิ (NII) ขยายตัวจากสินเชื่อขยายตัว และ NIM ปรับเพิ่มขึ้น รวมทั้งค่าใช้จ่ายการดำเนินงานอื่นๆ ลดลง ขณะที่กำไรสุทธิเติบโต QoQ เนื่องจากสำรองหนี้ฯ ปรับลดลง และ NII ปรับเพิ่มขึ้น จาก NIM ที่ปรับเพิ่มขึ้น
  • กำไรสุทธิในปี 2023 สูงสุดในกลุ่มธนาคารอยู่ที่ 43.5 พันล้านบาท (+15.9% YoY) เนื่องจาก (1) NII เพิ่มขึ้น (2) ผลกำไรสุทธิจากเครื่องมือทางการเงินที่วัดด้วยมูลค่ายุติธรรมผ่านกำไรหรือขาดทุน (FVTPL) เพิ่มขึ้น และ (3) ค่าใช้จ่ายภาษีลดลง
  • NIM ใน 4Q23 ปรับสูงขึ้น QoQ เป็น 4.1% ส่งผลให้ NIM เฉลี่ยในปี 2023 ปรับขึ้นเป็น 3.8% จาก 3.74% ในปี 2022 ด้าน Cost to income ratio (CIR) เพิ่มขึ้น QoQ ที่ 45.9% เพราะรายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ยลดลง และค่าใช้จ่ายการดำเนินงานเพิ่มขึ้น โดย CIR เฉลี่ยในปี 2023 ลดลงที่ 42% (2022: 45.2%)
  • สินเชื่อใน 4Q23 ลดลง 1.1% QoQ ทำให้สินเชื่อในปี 2023 โตเพียง 2% YoY จากสินเชื่อ SME สินเชื่อรายย่อย และสินเชื่อในบริษัท ย่อย (Auto X, CARD X และสินเชื่อดิจิทัลของบริษัท มันนิกซ์และบริษัท อบาคัส)
  • คุณภาพสินเชื่ออ่อนแอลงจากการปรับขึ้นของหนีกลุ่ม SME และรายย่อยเป็นหลัก ทำให้ NPL ratio อยู่ที่ 3.4% และอัตราส่วนการ ตั้งสำรองหนี้ฯ ต่อหนี้เสีย (Coverage ratio) อยู่ที่ 159.9% ใน 4Q23
- Advertisement -