บล.เอเซีย พลัส:

DCC กำลังซื้อซบเซา

คาด 4Q66 กำไรสุทธิ 297 ล้านบาท ลดลง 13%YoY เกิดจากปริมาณการขายกระเบื้องที่ลดลงตามสภาพตลาดที่ไม่เอื้ออำนวย ทำให้การใช้กลยุทธ์ทางการตลาดได้ผลค่อนข้างน้อย โดยเฉพาะกับผู้บริโภคตลาดกลาง-ล่าง ที่มีกำลังซื้อลดลง ด้านต้นทุนการผลิตมีแรงกดดันลดลงบ้าง จากค่าไฟฟ้าและค่าขนส่งที่ลดลง

ทิศทางธุรกิจปีนี้ประเมินยอดขายเติบโตไม่มาก มีการออกผลิตภัณฑ์ใหม่ๆตอบรับความนิยมของผู้บริโภค ขณะที่แผนการลดต้นทุนยังดำเนินการต่อเนื่องทั้งการติดตั้งแผงโซลาร์ลดค่าไฟฟ้าและการบริหาร Fleet รถขนส่ง ราคาหุ้นที่ปรับตัวลงสอดคล้องกับผลประกอบการและเงินปันผลที่ลดลง ให้น้ำหนักการลงทุน Neutral ประเมินราคาเหมาะสมวิธี DDM ได้ที่ 2.14 บาท มี Upside 31.8%

คาด 4Q66 กำไรสุทธิ 297 ล้านบาท ลดลง 13%YoY

ภาพรวมธุรกิจ 4Q66 ยังไม่เห็นสัญญาณบวกอะไรใหม่ ตลาดกระเบื้องระดับกลาง-ล่าง ยังคงได้รับผลกระทบจากกำลังซื้อของผู้บริโภคที่ลดลง โดยเฉพาะลูกค้าที่เป็นเกษตรกรในต่างจังหวัด แม้ว่าราคาพืชผลการเกษตรโดยเฉลี่ยจะปรับตัวสูงขึ้น แต่ปริมาณผลผลิตที่ได้น้อยลงและปัจจัยการผลิตที่สูงขึ้น ทำให้เงินที่เหลือสู่กระเป๋าของเกษตรกรซึ่งเป็นฐานลูกค้าหลักของ DCC ไม่ได้เพิ่มขึ้น คาดการณ์ปริมาณการขายกระเบื้อง ปูพื้น-บุผนัง ในงวด 4Q66 จะลดลงราว 5%YoY อยู่ที่ 10.8 ล้าน ตรม. ภายใต้ภาวะตลาดที่ไม่เอื้ออำนวย การจัดโปรโมชั่นลดราคาไม่ได้ส่งผลบวกต่อปริมาณการขายมากนัก ทำให้ DCC คงราคาสินค้าใกล้เคียงกับไตรมาสก่อนหน้าอยู่ที่ 155 บาท/ตรม. ส่วนยอดขายสินค้าอื่นๆเช่น ปูนติดกระเบื้อง กาวยาแนวและสินค้าฝากขาย คิดเป็นสัดส่วนต่อยอดขายกระเบื้องไม่ได้แตกต่างไปจากเดิม จึงคาดการณ์รายได้รวมงวด 4Q66 จะทำได้ 1,829 ล้านบาท ลดลง 5%YoY ด้านอัตรากำไร ประเมิน Gross margin ใกล้เคียงกับงวด 3Q66 ที่ 39.00% แม้ค่าไฟฟ้าจะปรับลดลงแต่ต้นทุนค่าก๊าซธรรมชาติยังอยู่ในระดับใกล้เคียงเดิม และอัตราการใช้กำลังการผลิตอยู่ในระดับต่ำเพียง 65% ทำให้ไม่เกิดความประหยัดต่อขนาด ส่วน SG&A/Sale คาดปรับลดลงเล็กน้อยตามค่าขนส่งที่ลดลง หลังรัฐบาลปรับลดราคานำมันดีเซลลงจากลิตรละ 31.94 บาท เหลือลิตรละ 29.94 บาท ภายใต้สมมุติฐานข้างต้น ฝ่ายวิจัยจึงประเมินกำไรสุทธิงวด 4Q66 ไว้ที่ 297 ล้านบาท (+0.2%QoQ,-13%YoY)

แผนงานปี 2567 ยังไม่เห็น “Big Change”

แผนงานปี 2567 ยังคงเน้นกลยุทธ์การบริหารงานแบบระมัดระวังภายใต้ภาวะตลาดที่ยังขาดแรงกระตุ้นด้าน Demand ที่ชัดเจน โดย DCC ได้เริ่มออกสินค้าใหม่ในกลุ่มกระเบื้องพอร์ซเลน คือ กระเบื้องขนาด 30×60 ซม. นำใช้ได้ทั้งการปูพื้นและบุผนัง ต่อยอดจากกระเบื้องพอร์ซเลนขนาด 60×60 ซม. และ 60×120 ซม. และเพิ่มจำนวนลวดลายของกระเบื้องพอร์ซเลนเป็น 100 ลวดลาย ทำให้ DCC มีปริมาณการขายกระเบื้องพอร์ซเลนเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง จากจุดเริ่มต้นในปี 2565 ที่มีปริมาณการขายกระเบื้องพอร์ซเลนเพียงเดือนละ 4-5 หมื่นตรม. คิดเป็นสัดส่วนไม่ถึง 1% ของปริมาณการขายรวม ปัจจุบันมีปริมาณการขายเพิ่มเป็นเดือนละ 1.2 แสนตรม. คิดเป็นสัดส่วน 3.3% ของปริมาณการขายทั้งหมด ซึ่งกระเบื้องพอร์ซเลนจะมีราคาขายสูงกว่ากระเบื้องเซรามิคทั่วไปถึง 2 เท่า โดย DCC มีความสามารถในการผลิตกระเบื้องพอร์ซเลนได้สูงสุดเดือนละ 2 แสนตรม. ส่วนการเพิ่มช่องทางการขายจะมีการเจาะกลุ่มลูกค้าโครงการมากขึ้น รวมถึงการปรับปรุงสาขาของ DCC ให้มีความทันสมัย และปรับโฉมเป็นศูนย์รวมวัสดุก่อสร้าง รับสินค้าวัสดุก่อสร้างอื่นๆมาวางขายมากขึ้น ด้านต้นทุนการผลิตมุ่งเน้นการเพิ่มประสิทธิภาพเครื่องจักรและบุคลากร รวมถึงการบริหารต้นทุนการผลิตในส่วนที่พอทำได้ ไม่ว่าจะเป็นการลดต้นทุนค่าขนส่งจากการเข้ามาบริหาร Fleet รถขนส่งเองบางส่วน ซึ่งน่าจะเห็นผลบวกมากขึ้นหากยอดขายฟื้นตัว เพราะจะสามารถวิ่งทำรอบได้มากขึ้น รวมถึงการลดค่าไฟฟ้าด้วยการติดตั้ง Solar Roof บนหลังคาโรงงานและร้านสาขา Outlet

เสน่ห์เงินปันผลจางหาย แต่พอมี Upside แนะนำ Neutral

การปรับตัวของ DCC ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมาและจะต่อเนื่องไปในอนาคตอีก 2-3 ปี ด้วยการปรับพอร์ตสินค้าให้ครอบคลุมลูกค้าทุกกลุ่ม รวมถึงการลงทุนซื้อที่ดินก่อสร้างสาขาใหม่ และปรับปรุงหน้าตาร้านค้า Outlet ให้มีความทันสมัยเหมาะสมกับสินค้ากระเบื้องที่พยายามปรับลุคให้ดูพรีเมียมมากขึ้น แม้จะทำให้ DCC ต้องลด Dividend Payout Ratio ลง แต่แลกมาด้วยการเติบโตในอนาคตที่ยั่งยืนขึ้น ฝ่ายวิจัยประเมินราคาเหมาะสมภายใต้วิธี DDM ได้ที่ 2.14 บาท เทียบเท่า PER 14.55 เท่า มี Upside 31.8% และคาดการณ์ Dividend Yield 4.08% ถือเป็นระดับปันผลกลางๆที่ไม่ได้โดดเด่นมากเหมือนในอดีตที่ DCC เคยให้ Dividend Yield สูงกว่า 5% มาโดยตลอด ให้น้ำหนักการลงทุน NEUTRAL

การดำเนินการด้าน ESG ของ DCC

DCC เป็นผู้ผลิต และจำหน่ายผลิตภัณฑ์ กระเบื้องเซรามิก ปูพื้น บุผนัง ที่มีสาขาเป็นช่องทางการจำหน่ายกว่า 201 สาขาทั่วประเทศ ได้มีการวิเคราะห์ผู้มีส่วนได้เสีย ในห่วงโซ่คุณค่าของธุรกิจในทางตรงและทางอ้อม ผ่านกระบวนการรับฟังความคิดเห็น การประชุม และช่องทางอื่นๆ เพื่อให้ทราบถึงความคาดหวังของผู้มีส่วนได้เสียและมีแผนการปฏิบัติในแต่ละด้านเพื่อตอบสนองความคาดหวังของผู้มีส่วนได้เสีย

มิติด้านสิ่งแวดล้อม : DCC มีการดำเนินการอย่างต่อเนื่องเพื่อให้ใช้พลังงานได้อย่างมีประสิทธิภาพและลดการปล่อยมลภาวะสู่ภายนอก อาทิ

1. ติดตั้งระบบผลิตพลังงานไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์บนหลังคา (SOLAR ROOFTOP) คาดว่าจะผลิตไฟฟ้าได้ภายในปี 2565 ส่งผลให้ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้กว่า 1,700 ตันคาร์บานไดอ๊อกไซด์เทียบเท่า (TON CO2EQ) ต่อปี

2. ติดตั้งเครื่องวัดปริมาณการใช้ก๊าซธรรมชาติและพลังงานไฟฟ้าทุกกระบวนการที่ใช้ก๊าซธรรมชาติและพลังงานไฟฟ้า แล้วนำมาวิเคราะห์ในรูปแบบดัชนีการใช้ก๊าซต่อหน่วยผลผลิต และดัชนีการใช้พลังงานไฟฟ้าต่อหน่วยผลผลิต

3. ออกแบบระบบการผลิตเป็นแบบระบบการใช้น้ำแบบหมุนเวียนภายใน เพื่อลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และไม่มีการปล่อยน้ำเสียทิ้งออกนอกโรงงาน

มิติด้านสังคม : ให้ความสำคัญของการพัฒนาคุณภาพสังคมและชุมชน การปฏิบัติต่อแรงงานอย่างเป็นธรรม ไม่จำกัดความแตกต่างทางเพศ หรือความแตกต่างในศาสนา การผลิตอย่างมีความรับผิดชอบต่อลูกค้า จัดสวัสดิการอาชีวอนามัย และความปลอดภัยในการทำงานตามหลักกฎหมาย เน้นการทำงานที่ปลอดภัย และมีสุขอนามัยในสถานที่ทำงาน ทั้งโรงงาน และสาขา อย่างเหมาะสม สนับสนุนการจ้างงานผู้พิการในองค์กร และได้นำส่งเงินสมทบตามสัดส่วนที่กฎหมายกำหนด นอกจากนี้ DCC ให้การสนับสนุนกระเบื้องปูพื้นบุผนังให้กับชมรมค่ายอาสาของนิสิต นักศึกษา ตามสถาบันอุดมศึกษาต่างๆ อย่างต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 2556 ภายใต้โครงการชื่อ “ไดนาสตี้ ร่วมจิตอาสา พัฒนาชนบท”

มิติด้านธรรมาภิบาล : มีนโยบายและแนวปฏิบัติที่เกี่ยวกับคณะกรรมการ 8 ข้อหลัก ตามแนวทาง CG CODE 2017 อาทิ การแต่งตั้งคณะกรรมการที่ประกอบด้วยบุคคลที่มีความรู้และประสบการณ์หลากหลายเพียงพอที่จะช่วยให้การทำหน้าที่โดยรวมของคณะกรรมการมีประสิทธิภาพ การมีนโยบายและแนวปฏิบัติที่เกี่ยวกับผู้ถือหุ้นและผู้มีส่วนได้เสีย ครอบคลุมการดูแลผู้ถือหุ้น การปฏิบัติต่อผู้ถือหุ้นโดยเท่าเทียวกัน การส่งเสริมการใช้สิทธิของผู้ถือหุ้น การ
ป้องกันการใช้ข้อมูลภายใน การป้องกันความขัดแย้งทางผลประโยชน์ ความรับผิดชอบต่อผู้มีส่วนได้เสีย การชดเชยกรณีที่เกิดการละเมิดสิทธิ การต่อต้านทุจริตคอร์รัปชัน มาตรการดำเนินการกับผู้ที่กระทำไม่เป็นไปตามนโยบายและแนวปฎิบัติ

- Advertisement -