KS Daily View 29.01.2024 >>> พันธบัตรเด้ง จากเฟดเลื่อนไปลดดอกเบี้ย พ.ค. จาก มี.ค. คาด SET แกว่งตัวในกรอบ 1,360-1,380 จุด หุ้นแนะนำ WHA, TQM

สรุปภาวะตลาดเมื่อวานนี้

ต่างประเทศ : ดัชนี DJIA +0.16% S&P500 -0.07% NASDAQ -0.36%; Dollar index -0.01% เป็น 103.474 และค่าเงินบาทปิดที่ 35.59; ราคาน้ำมันดิบ Brent Futures +1.36% เป็น 83.55/bbl; ราคาทองคำ -0.10% เป็น 2018.38/ounce; US 10Y yield +1.0bps เป็น 4.1412%

ในประเทศ: SET Index -7.940 จุด หรือ -0.58% ปิดที่ 1368.15 จุด หุ้นใน SET100 ที่ราคาเพิ่มขึ้นมากสุด ได้แก่ CPF (+1.67%), KKP (+1.55%), GPSC (+1.53%), EA (+1.31%) เป็นต้น ส่วนหุ้นที่ราคาลดลงต่ำสุด ได้แก่ AMATA (-3.96%), SAPPE (-3.13%), SJWD (-2.94%), DOHOME (-2.91%) เป็นต้น

แนวโน้มตลาดหุ้นในประเทศ:

คาดดัชนีแกว่งตัวในกรอบ 1,360-1,380 จุด แรงขายของนักลงทุนต่างชาติยังเป็นปัจจัยกดดันหลัก เพราะขาดปัจจัยดึงดูดทั้งในเชิงการเติบโต และ Valuation ยังไม่ถูกมากพอเมื่อเปรียบเทียบกับตลาดอื่นๆ ในสายตาของต่างชาติ ขณะที่ปัจจัยกดดันเพิ่มเติมในสัปดาห์นี้คือความเสี่ยงที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรจะปรับตัวขึ้นหากเฟดส่งสัญญาณเลื่อนไปลดดอกเบี้ยเป็น พ.ค.จาก มี.ค. (ตลาดล่วงหน้ามองโอกาสลดเดือน มี.ค. 46% และเดือน พ.ค. 86%) รวมถึงตัวเลขวงเงินประมูลพันธบัตรในงวด 1Q24 ของทางกระทรวงการคลังสหรัฐฯ ที่ก่อนหน้านี้ประกาศไว้ที่ US$816bn ว่าจะขยับเพิ่มหรือไม่

ประเด็นสำคัญที่เป็นกระแสในช่วงนี้และมีผลต่อการลงทุน:

1.) การส่งออกของไทยเดือนธ.ค. 2566 อยู่ที่ 2.28 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ลดลง 2.9% MoM แต่เพิ่มขึ้น 4.7% YoY ฟื้นตัว YoY เป็นเดือนที่ 5 ติดต่อกัน ขณะที่การนำเข้ามีมูลค่ารวมอยู่ที่ 2.18 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในเดือนธ.ค. ลดลง 15.7% MoM และ 3.0% YoY ส่งผลให้ไทยเกินดุลการค้าในเดือนนี้ที่ 973 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ การฟื้นตัวของการส่งออกดูชะลอตัวตามโมเมนตัมที่อ่อนแรงของดัชนี PMI ภาคการผลิต

2.) ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดการณ์ว่าการส่งออกของไทยจะขยายตัว 2% YoY จากที่หดตัว -1% YoY ในปี 2566 จากการฟื้นตัวของสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ตามรอบวัฎจักร และความต้องการนำเข้าสินค้าเกษตร/อาหารบนความมั่นคงจากผลกระทบของ El Nino ที่ต่อเนื่องมาจากปี 2566 และความเสี่ยงภูมิรัฐศาสตร์ อีกทั้ง สินค้าที่สอดคล้องกับกระแสสิ่งแวดล้อมยังมีความโดดเด่น อาทิ โซลาเซลล์ เป็นต้น ในส่วนของปัจจัยลบที่ต้องติดตามได้แก่ การโจมตีเรือสินค้าในทะเลแดงซึ่งอาจทำให้ต้นทุนการส่งสินค้าเพิ่ม และนานขึ้น รวมถึงนโยบายหาเสียงของนาย Trump ที่จะเก็บภาษีนำเข้า 10% หากชนะการเลือกตั้ง

3.) ติดตามการประชุมของกลุ่ม OPEC+ ในวันที่ 1 ก.พ. ซึ่งทาง Bloomberg รายงานข่าวว่าทางกลุ่ม OPEC+ จะคงแผนลดกำลังการผลิต 5.86 ล้านบาร์เรลต่อวันตามเดิมไปจนจบ 1Q24 คือ 1.) การลดแบบสมัครใจ 2.2 ล้านบาร์เรล (อาจยกเลิกใน 2Q24) และ 2.) การลดตามโควต้า 3.66 ล้านบาร์เรล (คาดขยายต่อไปจนจบปี 2024) ทั้งนี้ราคาน้ำมันดิบเบรนท์ ปรับเพิ่มขึ้น +5.6% WoW เป็น 83.10 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล จากตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯที่ออกมาดีกว่าคาด ปริมาณสต๊อกน้ำมันดิบรายสัปดาห์ที่ลดลงมากกว่าคาด การกระตุ้นเศรษฐกิจของจีน รวมถึงสถานการณ์ตึงเครียดในทะเลแดง

4.) China Securities Regulatory Commission (CSRC) หรือ กลต.จีนจะออกมาตรการควบคุมการให้ยืมหุ้นเพื่อทำ Short-sales โดยขึ้นเป็น “Restricted list” ตั้งแต่วันจันทร์เป็นต้นไป เพราะธุรกรรมดังกล่าวถูกใช้เป็นเครื่องมือในการลดสัดส่วนการถือครองหุ้นทางอ้อม นอกจากนี้ทาง กลต. จีนจะเข้าควบคุมธุรกรรมการนำหุ้นมาวางเพื่อเป็นหลักประกันเพื่อกู้เงินด้วยเช่นกัน คาดว่าแนวทางดังกล่าวอาจส่งผลให้หุ้นจีนฟื้นตัวทางจิตวิทยาได้บ้าง อย่างไรก็ตามอาจเห็นหุ้นไทยฟื้นตัวทางจิตวิทยาเช่นกันหากทางการส่งสัญญาณนำนโยบายควบคุมธุรกรรม Short-sale มาใช้เหมือนที่เกาหลี หรือจีน

Theme การลงทุนสัปดาห์นี้

ประเมินตลาดหุ้นไทยแกว่งตัวในกรอบ 1,340-1,390 จุด ในสัปดาห์นี้ เรามองว่า sentiment หุ้นไทยยังคงถูกกดดันจากแรงขายต่างชาติบน 1.) แนวโน้มการเติบโตของ GDP และกำไร บจ. ในประเทศพัฒนาแล้วสูงกว่าไทยโดยเปรียบเทียบ 2.) อัตราผลตอบแทนพันธบัตรระยะยาวของสหรัฐฯ มีโอกาสปรับตัวขึ้นต่อจากการส่งสัญญาณคงอัตราดอกเบี้ยในระดับสูงต่อเนื่องของเฟดเพื่อกดให้เงินเฟ้อระยะยาวลงสู่เป้าหมายที่ 2% โดยที่เฟดยังคงมั่นใจกับทิศทางการเติบโตของเศรษฐกิจสหรัฐฯ นอกจากนี้การประกาศแผนประมูลพันธบัตรสหรัฐฯสำหรับ 1Q24 ก็จะมีผลต่ออัตราผลตอบแทนพันธบัตรระยะยาวด้วย และ 3.) ตลาดหุ้นไทยยังไม่ถูกในเชิง PER เมื่อเทียบกับตลาดหุ้นในภูมิภาค สำหรับปัจจัยสำคัญอื่นๆที่ต้องติดตามได้แก่ การรายงานงบ 4Q23 ของ บจ. ไทย, ตัวเลขเศรษฐกิจเดือน ธ.ค. ของไทยโดย ธปท., คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญกรณีที่พรรคก้าวไกลลงชื่อแก้ไข ม.112 และนำเรื่องแก้ไข ม.112 ไปหาเสียงว่าขัดกับรัฐธรรมนูญหรือไม่, ตัวเลขการจ้างงานภาคเอกชน ตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตร อัตราการว่างงาน และดัชนี ISM/PMI ภาคการผลิตเดือนม.ค. ของสหรัฐฯ รวมถึงตัวเลข GDP 4Q23 และดัชนีราคาผู้บริโภคเดือน ม.ค. ของยูโรโซน และดัชนี PMI ภาคการผลิตเดือนม.ค. ของจีน ญี่ปุ่น ยูโรโซน อังกฤษเดือน ม.ค.

หุ้นแนะนำวันนี้ Top pick:
WHA (ราคาพื้นฐาน 5.70 บาท) ราคาหุ้นปรับตัวลงมากว่า -12% YTD จากความกังวลยอดขายที่ดินอาจชะลอในปี 2567 จากระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ในปี 2566 (2,750 ไร่) มองเป็นโอกาสเข้าสะสมจากแนวโน้มการย้ายฐานออกจากจีนยังมีต่อเนื่องอีกหลายปีบนสถานการณ์ที่จีนกับสหรัฐฯยังคงขัดแย้งกันต่อ นอกจากนี้ในปี 2566 ที่ผ่านมาบริษัทก็ให้เป้าช่วงต้นปีไว้เพียง 1,750 ไร่และค่อยๆปรับเป้าขึ้นระหว่างปี ทั้งนี้บริษัทจะมีการแถลงเป้าปี 2567 ในสัปดาห์นี้

TQM (ราคาพื้นฐาน 36.90 บาท) เราชอบ TQM จากการเป็นผู้นำตลาด รายได้ที่เติบโตขึ้นตามการเติบโตของตลาดเบี้ยประกันวินาศภัย ส่วนแบ่งการตลาดที่เพิ่มขึ้น และการควบคุมต้นทุนมีประสิทธิภาพ ขณะที่ช่วงขยายธุรกิจที่สิ้นสุดลงซึ่ง TQM ไม่จำเป็นต้องเพิ่มจำนวนพนักงานขึ้นอีก นอกจากนี้จะได้แรงหนุนจากธุรกิจนอกเหนือธุรกิจหลักที่คาดเติบโตขึ้นเช่น Easy Lending, TrueLife และ TrueExtra ส่งผลให้เราคาดกำไรปกติระหว่างปี 2567-69 ที่ทำสถิติสูงสุดใหม่ที่ 944 ลบ./1.02 พันลบ./1.1 พันลบ. มากกว่าสถิติสูงสุดเดิมที่ 827 ลบ. ในปี 2564 ราคาหุ้น TQM ซื้อขายบน PER ปี 2567 ที่ 18 เท่า (-0.9SD ของระดับเฉลี่ย) และ PBV ปี 2567 ที่ 6.3 เท่า (-0.8SD ของระดับเฉลี่ยในอดีต)

รายงานตัวเลขเศรษฐกิจ

  • วันจันทร์ ติดตาม ตัวเลขดัชนีภาคการผลิต Dallas Fed manufacturing index ของสหรัฐฯ สำหรับเดือน ม.ค. ตลาดคาดที่ -9.3 จุด เทียบกับเดือนก่อนหน้าที่ -23 จุด
  • วันอังคาร ติดตาม ตัวเลขอัตราการว่างงานของญี่ปุ่น สำหรับเดือน ธ.ค. ตลาดคาดที่ 2.5% ทรงตัวเมื่อเทียบบกับเดือนก่อนหน้า และติดตามตัวเลข GDP เบื้องต้นของยุโรปสำหรับไตรมาสที่ 4/66 ตลาดคาดที่ -0.1% QoQ และ +0.0% YoY เทียบกับไตรมาสก่อนหน้าที่ -0.1% QoQ และ +0.4% YoY ต่อด้วยช่วงข้ามคืนติดตามตัวเลขงานเปิดรับจ้างของสหรัฐฯ (JOLTs job openings) สำหรับเดือน ธ.ค. ตลาดคาดที่ 8.79 ล้านตำแหน่ง เทียบกับเดือนก่อนหน้าที่ 8.69 ล้านตำแหน่ง และปิดท้ายที่ัตัวเลขความเชื่อมั่นผู้บริโภคของสหรัฐฯ (CB consumer confidence) สำหรับเดือน ม.ค. ตลาดคาดที่ 111.3 จุด เทียบกับเดือนก่อนหน้าที่ 111.5 จุด
  • วันพุธติดตาม ตัวเลขดัชนีภาคการผลิตของจีนสำหรับเดือน ม.ค. ตลาดคาดที่ 49.0 เทียบกับเดือนก่อนหน้าที่ 49.2 ต่อด้วยช่วงคืนติดตามตัวเลขจ้างงานของสหรัฐฯ (ADP employment change) สำหรับเดือน ม.ค. ตลาดคาดที่ 1.30 แสนตำแหน่ง เทียบกับเดือนก่อนหน้าที่ 1.25 แสนตำแหน่ง และติดตามผลการประชุม FOMC ของสหรัฐฯ โดยตลาดคาด Fed จะคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 5.50%
  • วันพฤหัสบดีฯ ติดตาม ติดตามดัชนีภาคการผลิตของยุโรปสำหรับเดือน ม.ค. ตลาดคาดที่ 46.6 ทรงตัวเทียบกับเดือนก่อนหน้าที่ 46.6 ต่อด้วยผลประชุมธนาคารกลางอังกฤษ (BOE) ตลาดคาดจะคงอัตราดอกเบี้ยนโบายไว้ที่ 5.25% ปิดท้ายช่วงข้ามคืนติดตามตัวเลขดัชนีภาคการผลิตของสหรัฐฯ (ISM manufacturing PMI) สำหรับเดือน ม.ค. ตลาดคาดที่ 47.4 เทียบกับเดือนก่อนหน้าที่ 47.6 และการประชุมของกลุ่ม OPEC+
  • วันศุกร์ ติดตาม ตัวเลขจ้างงานนอกภาคการเกษตรของสหรัฐฯ (Non-farm payrolls) สำหรับเดือน ม.ค. ตลาดคาดที่ 1.62 แสนตำแหน่ง เทียบกับเดือนก่อนหน้าที่ 2.16 แสนตำแหน่ง ต่อด้วยอัตราการว่างงานของสหรัฐฯ (Unemployment rate) สำหรับเดือน ม.ค. ตลาดคาดที่ 3.7% ทรงตัวเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า และติดตามตัวเลขค่าจ้างแรงงานเฉลี่ยรายชั่วโมงของสหรัฐฯ (Average hourly earnings) สำหรับเดือน ม.ค. ตลาดคาดที่ +0.3% MoM เทียบกับเดือนก่อนหน้าที่ +0.3% MoM
- Advertisement -