KS Daily View 05.02.2024 >>> ตัวเลขจ้างงานสหรัฐฯ ที่แข็งแกร่ง จะกดดันการลงทุนใน Emerging market คาดดัชนีแกว่งตัวในกรอบ 1,370-1,391 จุด หุ้นแนะนำวันนี้ TU, ADVANC
สรุปภาวะตลาด
ต่างประเทศ: ดัชนี DJIA +0.35%S&P500 +1.07% NASDAQ +1.74%; Dollar index +0.87% เป็น 103.961 และค่าเงินบาทปิดที่ 35.59; ราคาน้ำมันดิบ Brent Futures -1.74% เป็น 77.33/bbl; ราคาทองคำ -0.8% เป็น 2038.59/ounce; US 10Y yield 17bps เป็น 4.0218%
ในประเทศ: SET Index +16.120 จุด หรือ +1.18% ปิดที่ 1384.08 จุด หุ้นใน SET100 ที่ราคาเพิ่มขึ้นมากสุด ได้แก่ GLOBAL (+5.26%), MTC (+4.68%), JMT (+4.43%), SJWD (+4.29%) เป็นต้น ส่วนหุ้นที่ราคาลดลงต่ำสุด ได้แก่ RCL (-4.71%), ICHI (-1.74%), SAPPE (-1.45%), TLI (-1.16%) เป็นต้น
แนวโน้มตลาดหุ้นในประเทศ:
คาดดัชนีแกว่งตัวในกรอบ 1,370-1,391 จุด หุ้น Emerging market (EM) มีโอกาสพักฐานหลังสหรัฐฯรายงานตัวเลขจ้างงานนอกภาคเกษตรที่แข็งแกร่ง ทำให้ Flow ที่ไหลเข้ามาเก็งกำไรทั้งค่าเงิน และตลาดหุ้นในสัปดาห์ก่อนหน้าชะลอตัว จากUS 10Y yield ที่กลับมาปิดพุ่ง +17bps. เป็น 4.02% และค่าเงิน USD แข็งค่า 0.8% เป็น 103.92 จุด เนื่องจากนักลงทุนเริ่มปรับมุมมองว่าเฟดจะคงดอกเบี้ยในเดือน มี.ค. ด้วยความน่าจะเป็น 80% และลดโอกาสการขึ้นดอกเบี้ยเดือน พ.ค. เหลือ 70% จากก่อนหน้าที่ 90% อย่างไรก็ตามตลาดหุ้นสหรัฐฯ มีแนวโน้มจะ outperform ตลาด EM ต่อหลังตัวเลขเศรษฐกิจยังแข็งแกร่งต่อเนื่อง และผลกำไรของบริษัทออกมาดีเกินคาด (72% ของบริษัทใน S&P500 ที่รายงานงบแล้วจำนวนครึ่งนึง)
ประเด็นสำคัญที่เป็นกระแสในช่วงนี้และมีผลต่อการลงทุน:
1.) กระทรวงแรงงานสหรัฐเปิดเผยว่า ตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตรเพิ่มขึ้น 353,000 ตำแหน่งในเดือนม.ค. สูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 187,000 ตำแหน่ง พร้อมปรับเพิ่มตัวเลขเดือน พ.ย. และ ธ.ค. อีกเดือนละ 126,000 ตำแหน่ง อัตราการว่างงานเดือน ม.ค. ทรงตัวที่ระดับ 3.7% ต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 3.8% ขณะที่ค่าแรงเดือน ม.ค. เร่งตัวขึ้นเป็น +0.6% MoM จาก +0.4% MoM เดือนก่อน
2.) สำนักข่าว Bloomberg รายงานว่ารัฐบาลเล็งเห็นความจำเป็นมากขึ้นในการออกโครงการดิจิตอลวอลเล็ตจากทิศทางของเศรษฐกิจไทยที่ชะลอตัวผ่านตัวเลข GDP ที่โตต่ำ และเงินเฟ้อติดลบ โดยเลขาธิการนายกรัฐมนตรี เศรษฐา ทวีสิน ให้ข้อมูลว่าทางรัฐบาลกำลังพิจารณาที่จะแบ่งการชำระหนี้ของโครงการดังกล่าวใน 3 ปีงบประมาณตกปีละ 1.7 แสนลบ.
3.) ติดตามภาพรวมการตัดขายหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ในปี 2567 คาดว่ายอดขายจากทุกสถาบันการเงินจะทะลุเกิน 1 แสนล้านบาท จากเดิมจะเห็นการตัดขายหนี้เฉลี่ยอยู่ที่ 6-7 หมื่นล้านบาทต่อปี เนื่องจากปีก่อนสถาบันการเงินดึงทรัพย์กลับคืนราว4-5 หมื่นล้านบาทจากที่ต้องการขายเกิน 1 แสนลบ. เนื่องจากราคาต่ำกว่าที่ต้องการ ขณะที่หนี้เสียในปีที่ผ่านมายังคงเร่งตัวขึ้น โดยเฉพาะหนี้ประเภทสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์
4.) ติดตามหลัง Ft รายงานข่าวว่าสายการบินยุโรปคาดจำนวนผู้โดยสารในช่วงหน้าร้อนจะพุ่งสูงขึ้นจากยอด booking ที่เห็นในตอนนี้ แม้ค่าตั๋วจะแพงขึ้น และเศรษฐกิจยุโรปโตชะลอตัว โดย Travel data company OAG รายงานสายการบินในยุโรปได้เพิ่มจำนวน Flights คิดเป็น 817.5 ล้านที่นั่งระหว่าง เม.ย. – ต.ค. ซึ่งเป็นระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ มองเป็น sentiment บวกกับ MINT และ SHR
5.) ติดตามธุรกิจประกันประเมินยอดจดทะเบียนรถอีวีใหม่ ปี’67 พุ่งแตะ 1.3 แสน จากระดับยอดจดทะเบียนใหม่ปี 2566 และ 2565 ที่ 76,366 คัน และ 9,678 คัน ตามลำดับ มองเป็นบวกกับนายหน้าประกันอย่าง TQM และ TIDLOR ที่จะได้ส่วนแบ่ง comission บนค่าเบี้ยประกันภัยที่สูงขึ้น
Theme การลงทุนสัปดาห์นี้
ประเมินตลาดหุ้นไทยแกว่งตัวในกรอบ 1,360-1,391 จุด ในสัปดาห์นี้ โดยมีปัจจัยที่ต้องติดตามได้แก่ ตัวเลขอัตราเงินเฟ้อเดือน ม.ค. ของไทย, ผลการประชุมกนง. ทิศทางเงินทุนต่างชาติ และผลประกอบการไตรมาส 4/66 ของบจ.ไทย โดยหาก กนง. มีการส่งสัญญาณผ่อนคลายนโยบายการเงินจากตัวเลขเศรษฐกิจที่ออกมาแย่อาจเป็นปัจจัยหนุนการฟื้นตัวของตลาดต่อเนื่องได้ ส่วนข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่สำคัญ ได้แก่ ดัชนีISM/PMI ภาคบริการเดือนม.ค. รวมถึงจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ ขณะที่ข้อมูลเศรษฐกิจต่างประเทศอื่นๆ ได้แก่ ดัชนี PMI ภาคบริการเดือนม.ค. ของจีน ญี่ปุ่น ยูโซนและอังกฤษ รวมถึงดัชนีราคาผู้บริโภคและดัชนีราคาผู้ผลิตเดือนม.ค. ของจีนเดือน ม.ค.
หุ้นแนะนำวันนี้
TU (ราคาพื้นฐาน 16.70 บาท) การตัดสินใจออกจากการลงทุนใน Red Lobster (RL) ที่ขาดทุนมาอย่างต่อเนื่อง ทำให้จะไม่รับรู้ผลการดำเนินงานของ RL อีกต่อไปตั้งแต่ 1Q24 หนุนหุ้นมีโอกาสถูกRerate ไปเทรดสูงขึ้นจากปัจจุบันเทรดบน P/E ปี 2024 ที่ระดับต่ำเพียง 9.7x อิง EPS ที่ 1.56 บาทต่อหุ้น นอกจากนี้การอ่อนค่าของเงินบาทจะเป็นบวกอัตราการทำกำไรของ TU ด้วย
ADVANC (ราคาพื้นฐาน 248.93 บาท) คาดกำไรไตรมาส 4/66 ที่ 7.23 พันลบ. (เติบโต 11% YoY, -5% QoQ) หนุนจากรายได้ที่ฟื้นตัวแข็งแกร่ง และการควบคุมค่าใช้จ่ายได้ดี พร้อมเปิด upsides จากการปรับราคาขึ้นเร็วกว่าคาด
รายงานตัวเลขเศรษฐกิจ
- วันจันทร์ ติดตาม ตัวเลขดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไป (Consumer Price Index – CPI) ของไทยสำหรับเดือน ม.ค. ตลาดคาดที่ -0.79% YoY เทียบกับเดือนก่อนหน้าที่ -0.83% YoY และ ตัวเลขดัชนีราคาผู้บริโภคพี้นฐาน (Core Consumer Price Index – Core CPI) ของไทยสำหรับเดือน ม.ค. ตลาดคาดที่ 0.57% YoY เทียบกับเดือนก่อนหน้าที่ 0.58% YoY ต่อด้วยดัชนี PMI ภาคบริการของจีน ยุโรป และสหรัฐฯ สำหรับเดือน ม.ค. โดยสำหรับดัชนีของจีนตลาดคาดทรงตัวเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าที่ 52.9 ขณะที่ดัชนีของยุโรปตลาดก็ประเมินว่าจะทรงตัวเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าที่ 48.4 และช่วงข้ามคืนจะรายงานในส่วนของดัชนีสำหรับสหรัฐฯตลาดคาดที่ 52.0 จุด เทียบกับเดือนก่อนหน้าที่ 50.6
- วันอังคาร ติดตาม ตัวเลขอัตราค่าจ้างแรงงานของญี่ปุ่น (Average cash earnings) สำหรับเดือน ธ.ค. ตลาดคาดที่ -0.5% YoY เทียบกับเดือนก่อนหน้าที่ +0.2% YoY ต่อด้วยตัวเลขการใช้จ่ายภาคครัวเรือนของญี่ปุ่น (Household spending)สำหรับเดือน ธ.ค. ตลาดคาดที่ -2.5% YoY เทียบกับเดือนก่อนหน้าที่ -2.9% YoY และติดตามตัวเลขค้าปลีกของยุโรป (Retail sales) โดยตัวเลขเดือนก่อนหน้ารายงานอยู่ที่ -1.1% YoY
- วันพุธ ติดตาม การประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ของไทย ตลาดคาดผลการประชุมจะคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 2.50% โดยประเด็นหลักสำคัญที่ต้องติดตามเพิ่มเติมคือ ตัวเลขการประมาณการทางเศรษฐกิจของไทยสำหรับปี 2566-67
- วันพฤหัสฯ ติดตาม ตัวเลขดัชนีราคาผู้บริโภค (Consumer Price Index – CPI) ของจีนสำหรับเดือน ม.ค. โดยตัวเลขรายงานในเดือนก่อนหน้าที่ -0.3% YoY ต่อด้วยติดตามบันทึกการประชุมและตัวเลขเศรษฐกิจของยุโรปที่ ECB ใช้ในการประเมินและตัดสินใจในการทำนโยบายการเงิน (ECB economic bulletin)
- วันศุกร์ ติดตามตัวเลขดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค (Consumer Confidence Index – CCI) ของไทยสำหรับเดือน ม.ค. โดยตัวเลขรายงานในเดือนก่อนหน้าที่ 62 จุด และติดตามตัวเลขดัชนีราคาผู้บริโภค (Consumer Price Index – CPI) ของเยอรมันสำหรับเดือน ม.ค. โดยตลาดคาดที่ +2.9% YoY เทียบกับเดือนก่อนหน้าที่ 3.7% YoY