ปัจจัยต่างประเทศ: IMF ปรับคาดการณ์เศรษฐกิจโลกปีนี้ลงเล็กน้อยจากประมาณการณ์ครั้งก่อนเดือนกรกฏาคมที่ 6% มาอยู่ที่ 5.9% ขณะที่ยังคง GDP growth ปีหน้าเท่าเดิมที่ระดับ 4.9% ทั้งนี้ได้ปรับคาดการณ์ GDP สหรัฐฯปีนี้ลงจาก 7% เหลือ 6% แต่ปรับเพิ่มการเติบโตปีหน้าขึ้นเป็น 5.2% จาก 4.9% ถือว่าสูงกว่าค่าเฉลี่ยก่อนเกิดวิกฤติโควิดพอสมควร ขณะที่ทางยุโรปมีการปรับ GDP growth ปีนี้เพิ่มขึ้นจาก 4.6% เป็น 5% ถึงแม้จะมีปัญหาขาดแคลนพลังงานก็ตาม ส่วนปีหน้า 2022 ยังคง GDP growth เท่าเดิมที่ระดับ 4.3%  ส่วนทางฝั่งตลาดเกิดใหม่ถูกปรับคาดการณ์ GDP growth ลงทั้งปีนี้และปีหน้าจาก 7.5% และ 6.4% เหลือ 7.2% และ 6.3% ตามลำดับ ทั้งนี้ IMF กังวลต่อประเด็น supply disruption อาจส่งผลต่อเศรษฐกิจโลกฟื้นตัว

ขณะที่รายงานตัวเลขเงินเฟ้อสหรัฐฯ (CPI) ออกมาสูงกว่าคาดเล็กน้อยจากราคาพลังงานที่ปรับตัวสูงขึ้น อย่างไรก็ตามราคารถมือสองที่เป็นตัวหลักที่ดันเงินเฟ้อสูงในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมาเริ่มชะลอตัวลง ส่งสัญญาณดีขึ้นตามนักวิเคราะห์ส่วนใหญ่ที่มองว่าเงินเฟ้อจะยังสูงต่อชั่วคราวแต่ยาวนานกว่าที่ประเมินไว้ตอนแรก นอกจากนี้เมื่อคืนยังมีรายงานการประชุมธนาคารกลางสหรัฐฯรอบที่ผ่านมา (FOMC Meeting) ที่ประชุมประเมินว่าน่าจะเริ่มทำการลดวงเงินเข้าซื้อสินทรัพย์ (QE Tapering) เดือนละ 1.5 หมื่นล้านเหรียญ (1 หมื่นล้านเหรียญสำหรับพันธบัตรรัฐบาล 5 พันล้านเหรียญสหรับ MBS) ในช่วงกลางเดือนพ.ย.นี้เลยซึ่งถือว่าเป็นไปตามตลาดคาด ทั้งนี้ที่ประชุมมีความกังวลต่อประเด็นเงินเฟ้อระดับสูง แต่ยังเชื่อว่าสุดท้ายเงินเฟ้อที่พุ่งสูงนั้นจะเป็นเพียงชั่วคราวแต่ลากยาวกว่าที่ประเมินไว้ ขณะที่ Fed Funds Futures เพิ่มความเป็นไปได้ที่จะเริ่มขึ้นดอกเบี้ยครั้งแรกในเดือนก.ย.ปี 2022 จาก 62% เป็น 65%

รายงานผลประกอบการสหรัฐฯ J.P. Morgan ธนาคารรายใหญ่ของสหรัฐ รายงานผลกำไรสุทธิเพิ่มขึ้นแตะ 1.17 หมื่นล้านดอลลาร์ หรือ 3.74 ดอลลาร์ต่อหุ้น ในไตรมาส 3 ซึ่งดีกว่าที่ตลาดคาด โดยบริษัทระบุว่ากิจกรรมการควบรวมกิจการ (M&A) ที่แข็งแกร่ง ช่วยชดเชยรายได้จากธุรกิจซื้อขายหลักทรัพย์ที่ชะลอตัวลง นอกจากนี้ ธนาคารเพื่อลูกค้ารายย่อยก็รายงานผลประกอบการที่แข็งแกร่งเช่นกัน เนื่องจากลูกค้ามีการใช้จ่ายบัตรเครดิตเพิ่มขึ้น และชะลอจ่ายสินเชื่อ ซึ่งทำให้ธนาคารจะมีรายได้จากดอกเบี้ยเพิ่มขึ้น ทั้งนี้ผลประกอบการของ J.P. Morgan ถูกมองว่าเป็นภาพสะท้อนสุขภาพเศรษฐกิจสหรัฐที่ยังแข็งแกร่ง ส่วน Goldman, Bank of America, Morgan Stanley และ Wells Fargo  ต่างรายงานผลประกอบการในสัปดาห์นี้เช่นกัน ทั้งนี้คาดว่าปัจจัยเรื่องผลประกอบการจะกลับมาเป็นตัวขับเคลื่อนสำคัญต่อทิศทางตลาดหุ้นในช่วงนี้

กลยุทธ์การลงทุน: ถึงแม้ว่าจะมีความกังวลต่อประเด็นพลังงานขาดแคลนและความเสี่ยงที่จะเกิด Stagflation อย่างไรก็ตามเรายังมองว่าโอกาสเกิดสภาวะดังกล่าวต่ำ ขณะที่เศรษฐกิจโลกจะยังฟื้นตัวต่อเนื่องในปีหน้า หลังหลายประเทศเริ่มทยอยเปิดเมืองในไตรมาสสี่จะช่วยสนับสนุนกิจกรรมาทางเศรษฐกิจและการเดินทางท่องเที่ยวทั่วโลกให้ฟื้นตัวขึ้นและคาดว่าจะช่วยลดปัญหา supply disruption ที่เกิดขึ้นในขณะนี้ เรายังแนะนำหุ้นกลุ่มที่จะได้ประโยชน์จากการเปิดเมือง

มุมมองตลาดหุ้น วันนี้คาด SET 1640-1650 หุ้นแนะนำ BBL, BEM

1) BBL (ราคาพื้นฐาน 150.00 บาท) กลุ่มธนาคารเป็นอีกกลุ่มที่คาดว่าจะได้ประโยชน์จากการกลับมาเปิดเมือง รวมถึงอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลไทยอายุ 10 ปีที่ปรับตัวสูงขึ้นช่วยหนุน sentiment บวกต่อกลุ่ม ทั้งนี้ BBL เป็นหุ้นที่ยังราคาไม่ได้ปรับตัวขึ้นมากนักเทียบกลุ่ม

2) BEM  (ราคาพื้นฐาน 10.11  บาท) คาดว่ากำไร 3Q21 แย่แต่จะฟื้นตัวใน 4Q21 โดย BEM ถือเป็นหุ้นกลุ่ม reopening ที่คาดว่าจะได้ sentiment บวกจากจากสถาณการณ์โควิดในประเทศที่ดีขึ้นต่อเนื่อง นอกจากนี้ยังมีความหวังจากการชนะประมูล รฟฟ.สายสีส้ม

รายงานตัวเลขเศรษฐกิจ

วันพฤหัสฯ ติดตาม ตัวเลข Inflation ของจีนเดือน ก.ย. คาด +0.3% MoM และ +0.9% YoY ตัวเลข PPI ของจีนเดือน ก.ย. คาด +10.5% YoY ตัวเลขการขอรับสวัสดิการว่างงานของสหรัฐฯรายสัปดาห์คาด 3.25 แสนคน ตัวเลข PPI ของสหรัฐฯ เดือน ก.ย. คาด +0.6% MoM และ +8.7% YoY และถ้อยแถลงของ Fed Barkin

วันศุกร์ ติดตาม ตัวเลข Loan growth ของจีนเดือน ก.ย. คาด +12.1% YoY ปริมาณเงิน M2 ของจีนเดือน ก.ย. คาด +8.1% YoY ตัวเลข Retail sales ของสหรัฐฯ เดือน ก.ย. คาด -0.2% MoM ตัวเลข Import price ของสหรัฐฯ เดือน ก.ย. คาด +0.6% MoM และ +9.5% YoY และตัวเลข Michigan Consumer Sentiment prel Oct ของสหรัฐฯ คาด +1.4% MoM เป็น 73.8 จุด และถ้อยแถลงของ Fed Williams

- Advertisement -