บล.เอเซีย พลัส:
PTTGC ราคาหุ้นน่าจะตอบรับปัจจัยกระทบไปแล้ว รอการฟื้นตัวในปี 67
กำไรสุทธิงวด 4Q66 อยู่ที่ 5.1 พันล้านบาท เพิ่มขึ้น 256.2%QOQ ดีกว่าคาดจากรายได้พิเศษช่วยไว้หลายรายการ แต่หากพิจารณาผลการดำเนินงานปกติพบว่าถึงขั้นขาดทุน 2.1 พันล้านบาท ย่ำแย่กว่าคาด ถูกกดดันหลักจากธุรกิจโรงกลั่นตาม MARKET GRM ที่ลดลง และธุรกิจโอเลฟินส์ และโพลีเมอร์ที่มีแผนหยุดซ่อมบำรุงหลายโรงงาน ประกอบกับ MARGIN ที่ลดลงจากราคาเม็ด PE ที่ลดลง และต้นทุนวัตถุดิบที่เพิ่ม ทำให้ในงวดนี้เผชิญกับผลขาดทุนเพิ่มขึ้น ส่วนในงวด 1Q67 คาดผลการดำเนินงานปกติน่าจะเห็นการฟื้นตัวดีขึ้นมาอยู่ในระดับ BREAKEVEN หรือขาดทุนลดลง QOQ ถึงแม้จะยังไม่มีปัจจัยบวกโดดเด่นมาก ต้องรอ 2H67
มูลค่าพื้นฐานปี 67 ที่ 36 บาทต่อหุ้น ภายใต้รวมผลกระทบจากการปรับโครงสร้างราคาก๊าซฯใหม่ของไทยแล้ว ราคาหุ้นในช่วงที่ผ่านมาคาดจะตอบรับผลลบเรื่องโครงสร้างราคาก๊าซฯ และผลการดำเนินงานที่ยังไม่สดใสไปแล้วระดับหนึ่ง อีกทั้งประกาศจ่ายปันผลทั้งปี 2566 ที่ 0.75 บาทต่อหุ้น คิดเป็น DIVYIELD ที่ 2.1% ทำให้มีการปรับเพิ่มน้ำหนักการลงทุนเป็น NEUTRAL จาก UNDERPERFORM
กำไรสุทธิ 4Q66 เพิ่มขึ้นมีนัยฯ QoQ ดีกว่าคาด จากรายได้พิเศษช่วยไว้ ขณะที่ผลการดำเนินงานปกติเผชิญขาดทุน
PTTGC รายงานกำไรสุทธิงวด 4Q66 เท่ากับ 5.1 พันล้านบาท เพิ่มขึ้น 256.2%qoq ดีกว่าคาด เนื่องจากมีรายได้พิเศษสูงกว่าที่บริษัทให้แนวทางไว้ โดยกำไรสุทธิที่ดีขึ้นมีนัยฯในงวดนี้เป็นผลมาจากรายการพิเศษที่ในงวดนี้สุทธิแล้วพลิกกลับเป็นรายได้พิเศษรวมสูงถึง 7.2 พันล้านบาท จากงวดก่อนหน้าที่สุทธิแล้วค่าใช้จ่ายพิเศษรวม 826 ล้านบาท เนื่องจาก 1) บันทึกกำไรจากการขายหุ้น 50% ในบริษัทจีซี โลจิสติกส์ โซลูชั่นส์ จำกัด (GCL) ซึ่งแบ่งเป็น capital gain และกำไรจากการตีมูลค่า fair value ของเงินลงทุนที่เหลืออีก 50% รวม 4.0 พันล้านบาท เทียบกับงวดก่อนหน้าที่บันทึกขาดทุนจากการตัดจำหน่ายสินทรัพย์อันเนื่องมาจากเหตุขัดข้องการเตรียมดำเนินการโครงการคลังสินค้ารวม 625 ล้านบาท 2) บันทึกกำไรจากการซื้อคืนหุ้นกู้บางส่วนในขณะที่ bond yield อยู่สูง ทำให้มี discount ราว 20% คิดเป็นมูลค่า 1.4 พันล้านบาท 3) บันทึกกลับเป็นกำไรจากอัตราแลกเปลี่ยน 2.3 พันล้านบาท เทียบกับบันทึกขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยน 1.1 พันล้านบาท ในงวดก่อนหน้า ตามค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นมาอยู่ที่ 34.3 จาก 36.7 บาทต่อเหรียญฯ 4) บันทึกกลับเป็นกำไรจาก hedging 831 ล้านบาท จากงวดก่อนหน้าบันทึกขาดทุนจาก hedging 2.7 พันล้านบาท 5) ปรับมูลค่าการกลงทุนของบริษัทไทยแทงค์เทอมินอล จำกัด หลังการประเมินมูลค่ายุติธรรมของเงินลงทุนที่เหลืออยู่เสร็จสิ้น 518 ล้านบาท 6) รายได้จากการเคลมประกันภัยของ GCL สำหรับเหตุการณ์ขัดข้องคลังสินค้าที่เกิดขึ้นเมื่อปี 2565 ซึ่งอยู่ใน Equity Income 500 ล้านบาท ถึงแม้ในงวด 4Q66 จะบันทึกกลับเป็นขาดทุนสต๊อกน้ำมัน รวม NRV 2.4 พันล้านบาท จากงวดก่อนนหน้าที่บันทึกเป็นกำไรจากสต๊อกน้ำมันรวม NRV ที่ 3.7 พันล้านบาท ตามราคาปิดน้ำมันดิบดูไบสิ้นงวด 4Q66 ที่ลดลงมาอยู่ที่ 77 เหรียญฯต่อบาร์เรล จากปิดสิ้นงวด 3Q66 ที่ 96 เหรียญฯต่อบาร์เรล
อย่างไรก็ตามหากตัดรายการพิเศษ พิจารณาเฉพาะผลการดำเนินงานปกติในงวด 4Q66 พบว่าถึงขั้นขาดทุน 2.1 พันล้านบาท ถูกกดดันหลักจากธุรกิจโรงกลั่นที่ผลการดำเนินงานปรับตัวลดลงตาม Market GRM ที่ในงวดนี้ลดลงมาอยู่ที่ 9.0 จาก 12.6 เหรียญฯต่อบาร์เรล ซึ่งเป็นไปตาม crack spread ผลิตภัณฑ์น้ำมันสำเร็จรูปที่ปรับตัวลดลง QoQ ทุกผลิตภัณฑ์ โดยเฉพาะ Gasoil (สัดส่วนราว 60-70%) ที่ลดลงมาอยู่ที่ 21.1 จาก 26.9 เหรียญฯ ต่อบาร์เรล จาก supply ที่เพิ่มขึ้นหลังจากหยุดซ่อมบำรุงแล้วเสร็จในหลายโรงกลั่นทั่วโลก รวมถึง crude premium ปรับตัวเพิ่มขึ้นอีก 1 เหรียญฯต่อบาร์เรล จากงวดก่อนหน้า มาอยู่ที่ 7.0 เหรียญฯต่อบาร์เรล ถึงแม้ปริมาณขายปิโตรเลียมจะเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 18.1 จาก 16.2 ล้านบาร์เรล ในงวดก่อนหน้า
นอกจากนี้ในงวด 4Q66 ยังถูกกดดันจากธุรกิจโอเลฟินส์ และโพลีเมอร์ที่ผลการดำเนินงานในงวด 4Q66 เผชิญกับผลขาดทุนที่เพิ่มขึ้นจากงวดก่อนหน้า เนื่องจากมีแผนหยุดซ่อมบำรุงจำนวนหลายโรงงานในงวดนี้ ทั้งโรงงานโอเลฟินส์ I1 (กำลังการผลิตเอทิลีน 4.6 แสนตันต่อปี โพรพิลีน 1.3 แสนตันต่อปี) ที่ปิดซ่อมเกือบทั้งไตรมาส เช่นเดียวกับโรงงานโพลีเมอร์ที่มีหยุดเดินเครื่องเพื่อซ่อมบำรุงทั้งโรง HDPE, LDPE, LLDPE เฉลี่ยราว 20-24 วัน ในงวด 4Q66 ส่งผลให้ปริมาณขายลดลงตามกำลังการผลิตที่ลดลง อีกทั้งในส่วนของราคาผลิตภัณณฑ์เม็ดพลาสติกโดยเฉลี่ยปรับตัวลดลงจากงวดก่อนหน้าราว 10 เหรียญฯต่อตัน รวมถึงได้รับปัจจัยลบจากต้นทุน LPG (ใช้เป็น feedstock ในงวด 4Q66 ราว10% ของ feedstock รวม) ที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นสูงมาอยู่ที่ 613 จาก 469 เหรียญฯ
ต่อตัน ในงวดก่อนหน้า จึงทำให้ margin ของผลิตภันฑ์สายโอเลฟินส์โพลีเมอร์ปรับตัวลดลงอีกด้วย
เช่นเดียวกับผลการดำเนินงานของกลุ่มผลิตภัณฑ์ Intermediate และ Performance พบว่าปรับตัวลดลงจากงวดก่อนหน้า โดยในส่วนของกลุ่ม Intermediate ถึงแม้ spread BPA เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 243 จาก 200 เหรียญฯต่อตัน แต่ถูกหักล้างไปกับแผน shutdown BPA และ Phenol ในงวดนี้ที่ 18 วัน และ 30 วัน ตามลำดับ และ Spread MEG ที่ปรับตัวลดลงเหลือ 231 จาก 310 เหรียญฯ ต่อตัน ตามต้นทุนวัตถุดิบเอทิลีนที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น เช่นเดียวกับธุรกิจ Performance ที่ในงวด 4Q66 ถูกกดดันจากปริมาณขายของ Allnex ปรับตัวลดลงตามฤดูกาลช่วงปีใหม่ลูกค้าหยุด นอกจากนี้มีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นจากการปิดโรงงานที่ไม่คุ้มต้นทุน รวมถึง Vencorex ยังไม่ฟื้นตัว
มีเพียงธุรกิจอะโรเมติกส์ที่ผลการดำเนินงานงวด 4Q66 เห็นการฟื้นตัวจาก 3Q66 ตาม Market BTX P2F ที่เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 180 จาก 164 เหรียญฯต่อตัน (spread Px ลดลง แต่ถูกชดเชยได้กับ spread Bz และ by product LPG ที่เพิ่มขึ้น) รวมถึง Utilization rate เพิ่มขึ้นจากงวดก่อนหน้า ตามการกลับมาเดินเครื่องปกติของโรง Aro1 (กำลังการผลิต 1.19 ล้านตันต่อปี) ที่มีหยุดเดินเครื่องเพื่อซ่อมบำรุงตามแผน 37 วัน ไปใน 3Q66
โดยรวมแล้วผลการดำเนินงานทั้งปี 2566 เป็นกำไรสุทธิ 999 ล้านบาท เทียบกับปี 2565 ที่เผชิญขาดทุนสุทธิ 8.7 พันล้านบาท สำหรับในส่วนของผลการดำเนินงานปกติพบว่าในปี 2566 เผชิญผลขาดทุนปกติที่ 2.7 พันล้านบาท เทียบกับปี 2565 ที่เป็นกำไรปกติสูงถึง 1.9 หมื่นล้านบาท จากภาพรวมเศรษฐกิจโลกที่ย่ำแย่ทำให้ความต้องการใช้ปิโตรเคมีชะลอตัว ประกอบกับมี supply ใหม่จำนวนมากเข้ามาสู่ตลาดระหว่างปี 2566
รอความหวังปิโตรเคมีฟื้นตัวในปี 2567…ช่วงสั้นยังไม่เห็นปัจจัยขับเคลื่อนที่โดดเด่น ให้น้ำหนัก 2H67
เบื้องต้นฝ่ายวิจัยยังคงประมาณการผลการดำเนินงานปี 2567 ที่จะค่อยๆเห็นการฟื้นตัวกลับมาในส่วนของธุรกิจปิโตรเคมี ซึ่งให้น้ำหนักการฟื้นตัวอยู่ในช่วง 2H67 ตามทิศทางเศรษฐกิจโลก โดยเฉพาะจีนซึ่งเป็นความหวังหลักในภูมิภาคเอเชีย ขณะที่ธุรกิจโรงกลั่นคาดค่าการกลั่นจะกลับสู่ภาวะปกติสะท้อน demand และ supply ที่แท้จริง โดยกำหนดสมมติฐานค่าการกลั่นไว้ที่ 6 เหรียญนต่อบาร์เรล ลดลง YoY นอกจากนี้ในประมาณการของฝ่ายวิจัยได้รวมผลกระทบเบื้องต้นของการปรับโครงการราคาก๊าซฯของประเทศไทยใหม่เป็น Single Pool Gas ภายใต้หลักความระมัดระวังไว้ก่อน ถึงแม้ทาง PTTGC จะชี้แจงว่ายังอยู่ระหว่างการปรึกษาหาแนวทางแก้ไขกับทาง PTT อย่างไรก็ตามหากมีแนวทางที่เป็นบวกมากขึ้นก็จะถือเป็น upside จากประมาณการได้
ทั้งนี้ในช่วงสั้นฝ่ายวิจัยคาดทิศทางผลการดำเนินงานปกติงวด 1Q67 จะเห็นการฟื้นตัวจากงวด 4Q66 มาอยู่ในระดับ Breakeven หรือเป็นขาดทุนที่ลดลงจากงวดที่ผ่านมา จากแนวโน้ม spread ผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีสายโอเลฟินส์ที่เริ่มเห็นการขยับตัวขึ้นเล็กน้อย จากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในหลายๆประเทศทั่วโลก โดยเฉพาะจีน ขณะที่ spread กลุ่มอะโรเมติกส์อาจทรงๆตัว เนื่องจากในงวด 4Q66 spread ผลิตภัณฑ์ Bz ดีดตัวแรงแล้ว ทำให้ในงวด 1Q67 อาจจะเห็นการย่อตัวลงมาบ้าง สำหรับในส่วนของธุรกิจโรงกลั่นในงวด 1Q67 คาดค่าการกลั่นจะทรงตัวสูงได้ใกล้เคียงกับงวดก่อนหน้า ตามค่าการกลั่นอ้างอิงตลาดสิงคโปร์ในปัจจุบันที่อยู่ในระดับสูง 9-10 เหรียญฯต่อบาร์เรล (1QTD67 อยู่ที่ 8.2 เหรียญฯ ต่อบาร์เรล) รวมถึงคาดจะได้รับผลบวกหลักจากปริมาณขายที่จะเพิ่มขึ้นของกลุ่มโอเลฟินส์และโพลีเมอร์ จากการกลับมาเดินเครื่องปกติไม่หยุดซ่อมใหญ่เช่นที่เกิดขึ้นในงวด 4Q66
ส่วนของรายการพิเศษอื่นๆในงวด 1Q67 หากราคาปิดน้ำมันดิบดูไบช่วงสิ้นงวดอยู่เหนือ 77 เหรียญฯต่อบาร์เรล จะบันทึกเป็นกำไรจากสต๊อกน้ำมัน แต่ถ้าอยู่ต่ำกว่าจะบันทึกกลับเป็นขาดทุนจากสต๊อกน้ำมัน เบื้องต้นคาดในงวด 1Q67 โอกาสที่จะบันทึกกำไรหรือขาดทุนจากสต๊อกน้ำมันอาจจะไม่มากนัก เช่นเดียวกับในส่วนของ hedging ที่คาดมีโอกาสที่จะบันทึกขาดทุน/กำไรจาก hedging ไม่มากเช่นกัน
การดำเนินการด้าน ESG ของ PTTGC
ด้านสิ่งแวดล้อม (Environmental): มุ่งเน้นการดำเนินงานที่สอดคล้องตามแผน Decarbonization Roadmap โดยตั้งเป้าหมายลดก๊าซเรือนกระจกให้ได้ร้อยละ 20 ภายในปี 2573 และมุ่งสู่เป้าหมายลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) รวมถึงลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้ได้ร้อยละ 50 ในปี 2593 ทั้งนี้บริษัทฯ มีการจัดทำนโยบายและแผนกลยุทธ์การบริหารจัดการพลังงานไว้อย่างชัดเจน ดังนี้
Efficiency-Driven: การดำเนินโครงการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และเพิ่ประสิทธิภาพการใช้พลังงานหลากหลายโครงการ เช่น โครงการอนุรักษ์พลังงานโครงการ Maptaphut Integration (MTPi) โครงการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก โดยการใช้พลังงานทดแทน เป็นต้น
Portfolio-Driven : การลงทุนในธุรกิจ High Value Business (HVB) ธุรกิจผลิตภัณฑ์เคมีเพื่อสิ่งแวดล้อม (Green Chemical Business) และธุรกิจที่สอดคล้องกับหลักการเศรษฐกิจหมุนเวียน โดย บริษัทฯ ขยายการลงทุนในบริษัท allnex Holding GmbH ซึ่งเป็นผู้นำอันดับหนึ่งของโลกในอุตสาหกรรม Coating Resins และ Crosslinkers รวมถึงการทำคำเสนอซื้อหลักทรัพย์ VNT เพื่อช่วยต่อยอดธุรกิจปลายน้ำของบริษัทฯ และการปรับลดสัดส่วนการถือหุ้นใน GPSC เพื่อมุ่งเน้นธุรกิจในกลุ่มปิโตรเคมีมากขึ้น อีกทั้งได้พัฒนาระบบ YOU เทิร์น PLATFORM เพื่อบริหารจัดการพลาสติกใช้แล้วกลับมาเป็นสารตั้งต้นในการผลิตอย่างครบวงจร
Compensation-Driven: การดำเนินโครงการฟื้นฟู และเสริมสร้างสมดุลของระบบนิเวศของป่าร่วมกับหน่วยงานภาครัฐ เอกชน และสังคมรวมถึงชุมชนต่างๆ อย่างต่อเนื่อง อาทิโครงการปลูกป่านิเวศระยองวนารมย์ ซึ่งได้รับการจดทะเบียนเป็นโครงการลดก๊าซเรือนกระจกภาคสมัครใจตามมาตรฐานของประเทศไทย และโครงการฟื้นป่ารักษ์น้ำ เขาห้วยมะหาด รวมถึงยังมีการสร้างความร่วมมือกับภาคีเครือข่าย และลงทุนใน CorporateVenture Capital (CVC) เพื่อเข้าถึงเทคโนโลยีและนวัตกรรม Carbon Capture Utilization and Storage (CCUS) ในการดักจับและกักเก็บคาร์บอนในชั้นบรรยากาศและเทคโนโลยีล้ำสมัยอื่นๆ เพื่อนำมาใช้ประโยชน์ในอนาคต
นอกจากนี้ยังมีการกำหนดกลยุทธ์การบริหารจัดการน้ำอย่างยั่งยืน โดยมุ่งเน้นการบริหารจัดการน้ำแบบบูรณาการ เพิ่มประสิทธิภาพการใช้น้ำในกระบวนการผลิต นำน้ำกลับมาหมุนเวียนใช้ประโยชน์ ตลอดจนการหาแหล่งน้ำสำรองเพื่อลดผลกระทบต่อการใช้น้ำจากการดำเนินธุรกิจของบริษัทฯ ผ่านการเครือข่ายร่วมกับภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคอุตสาหกรรม และโครงการภายในองค์กร รวมถึง การบริหารจัดการของเสีย และการควบคุมคุณภาพอากาศ อาทิ โครงการซ่อมบำรุงที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งช่วยลดการใช้ทรัพยากร และลดการเกิดของเสียที่เกิดจากกิจกรรมซ่อมบำรุงทั้งประเภทอันตราย และไม่อันตรายอย่างมีประสิทธิภาพ การจัดทำแผนการยกเลิกใช้สารอันตรายซึ่งทำลายชั้นบรรยากาศโอโซน โดยยกเลิกการใช้สาร R-22 และปรับเปลี่ยนมาใช้สารทำความเย็นชนิด Non-CFC ภายในปี 2573 เป็นต้น
ด้านสังคม (Social): มุ่งเน้นการสร้างคุณค่าสู่สังคมยั่งยืนอย่างต่อเนื่องโดยการเพิ่มสัดส่วน การดำเนินงานกิจการเพื่อสังคม(Social Enterprise: SE) และการสร้างสรรคุณค่าธุรกิจคู่สังคม (Creating Shared Value: CSV) รวมถึงการผสานการดำเนินงานเข้ากับโครงการด้าน Circularity และForestation ภายใต้ Decarbonization Roadmap มีแผนจัดทำการประเมินผลลัพธ์ทางสังคม หรือคุณค่าทางสังคมที่เกิดจากการดำเนินโครงการและกิจกรรมต่างๆ เพื่อวิเคราะห์ความคุ้มค่า และยกระดับการดำเนินงานโครงการต่างๆให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น ทั้งนี้ บริษัทฯ ได้มีการส่งเสริมและพัฒนาสังคม และชุมชนรอบข้างผ่านการจัดทำโครงการต่างๆ อาทิ โครงการ Community Waste Model ร่วมกับวิสาหกิจชุมชนธนาคารคัดแยกขยะรีไซเคิล ชุมชนวัดชากลูกหญ้าจัดตั้ง Recycle Hub ณ ชุมชนวัดชากลูกหญ้า ซึ่งเป็นชุมชนต้นแบบการบริหารจัดการขยะอย่างครบวงจร จากต้นทางถึงปลายทางแห่งแรกในจังหวัดระยอง ส่งผลให้สามารถรวบรวมปริมาณขยะรีไซเคิลได้มากกว่า 50,000 กิโลกรัมต่อปี และสนับสนุนการจ้างงาน สร้างอาชีพให้กับชุมชน ส่งผลให้วิสาหกิจชุมชนมีรายได้มากกว่า440,000 บาท ต่อปี มีการพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสุขภาพ และสิ่งแวดล้อม ได้แก่ LUFFALA Room Diffuser: Recreation Series น้ำมันหอมระเหยปรับอากาศ โครงการโครงการ Rayong Organic Living ซึ่งส่งเสริมการปลูกสมุนไพร 4 ชนิด ได้แก่ สะระแหน่ ว่านสาวหลง จิงจูฉ่าย และเร่วหอม ด้วยวิถีอินทรีย์ เป็นต้น นอกจากนี้บริษัทฯ ร่วมกับภาคีเครือข่าย ทั้งภาครัฐ สถาบันการศึกษา และชุมชน ในพื้นที่จังหวัดระยอง ดำเนินโครงการ GC รวมพลังรักษ์น้ำตั้งแต่ปี 2560 เพื่อบรรเทาปัญหาน้ำท่วม น้ำแล้งในพื้นที่ พร้อมทั้งสนับสนุนให้ชุมชนมีน้ำสะอาดสำหรับอุปโภคบริโภคอย่างเพียงพอ และยังจัดทำโครงการธนาคารน้ำใต้ดิน (ระบบปิด) เพื่อช่วยบรรเทาปัญหาการรุกล้ำของน้ำเค็ม รวมถึงปัญหาภัยแล้ง และ น้ำท่วมขังให้แก่เกษตรกรชาวสวน โดยบริษัทฯ มีเป้าหมายระยะยาวในการสร้าง ความรับผิดชอบต่อสังคม พร้อมทั้งมุ่งสร้างการพัฒนาเชิงสังคมในวิถีของการสร้างคุณค่าทางธุรกิจ ให้เป็นร้อยละ 70 และการบริจาคสู่สังคมให้เป็นร้อยละ 30 ตั้งแต่ปี 2566 และท้ายที่สุดคือการมุ่งไปสู่การเป็น Partner of Choice ภายในปี
2568
ด้านการกำกับดูแล (Governance): ยกระดับการกำกับดูแล และติดตามการดำเนินงานด้านความยั่งยืน โดยขยายขอบเขตการกำกับดูแลของคณะกรรมการย่อยต่างๆ รวมถึงการขยายผลแนวปฏิบัติด้านความยั่งยืนให้ครอบคลุมไปยังกลุ่มบริษัทฯ นอกจากนี้ บริษัทฯ มีแผนจัดทำการประเมินมูลค่าการดำเนินงานด้าน ESG เพื่อยกระดับการดำเนินงานให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ตลอดจนส่งเสริมให้เกิดวัฒนธรรมด้านความยั่งยืนภายในองค์กรผ่านการดำเนินงาน และปฏิบัติจริงอย่างเป็นรูปธรรม ซึ่งที่ผ่านมา บริษัทฯ ได้กำหนดนโยบายการกำกับดูแลกิจการที่ดี เพื่อให้กรรมการ ผู้บริหาร และพนักงานของกลุ่มบริษัทฯ ทุกคนยึดถือเป็นแนวทางในการปฏิบัติงาน โดยยึดถือแนวปฏิบัติที่เป็นสากลทั้งในประเทศและต่างประเทศ อาทิ แนวปฏิบัติตลาดหลักทรัพย์ฯ CG Code ของสำนักงาน ก.ล.ต. ASEAN CG Scorecard Dow Jones Sustainability Indices (DJSI) เป็นต้น และมุ่งมั่นพัฒนาการกำกับดูแลกิจการที่ดีตามหลักมาตรฐานสากลให้สูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง อันได้แก่การคำนึงถึงสิทธิของผู้ถือหุ้น การปฏิบัติต่อผู้ถือหุ้นอย่างเท่าเทียมกัน การให้ความสำคัญกับบทบาทของผู้มีส่วนได้เสียการเปิดเผยข้อมูลและความโปร่งใส และความรับผิดชอบของคณะกรรมการโดยนำมาใช้เป็นแนวทางในการดำเนินงาน เพื่อให้การปฏิบัติงานเป็นไปตามกฎหมายและข้อกำหนดที่เกี่ยวข้อง ในทุกประเทศที่เข้าไปลงทุน
ประเด็นความเสี่ยง
1. การหยุดฉุกเฉินของโรงกลั่น โรงงานโอเลฟินส์ และโรงงานอะโรเมติกส์ (UNPLANNED SHUTDOWN)
2. ค่าการกลั่น และ SPREAD ผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมี ไม่ได้เป็นไปตามสมมติฐานที่กำหนดไว้
3. การแทรกแซงของรัฐในการกำหนดราคาต้นทุนวัตถุดิบและราคาผลิตภัณฑ์
4. การลงทุนในต่างประเทศมีความเสี่ยง COUNTRY RISK