GGC เดินกลยุทธ์เชิงรุกขับเคลื่อนต่อยอดธุรกิจสู่การเติบโตแบบยั่งยืน หนุน EBITDA CAGR โต 15% และ Competitive EBITDA Margin โต 11% ในปี 2030
บริษัท โกลบอลกรีนเคมิคอล จำกัด (มหาชน) หรือ GGC เดินหน้าขับเคลื่อนองค์กรเพื่อสร้างโอกาสการเติบโตอย่างยั่งยืน ผ่านกลยุทธ์การลงทุนขยายพอร์ตทางธุรกิจ High Value Product หนุนEBITDA CAGR โต 15% และ Competitive EBITDA Margin โต 11% ภายในปี 2030 จากการรับรู้รายได้ธุรกิจใหม่มากกว่า 50% สอดรับการฟื้นตัวของ 4 กลุ่มอุตสาหกรรม (เมทิลเอสเทอร์-แฟตตี้แอลกอฮอล์-กลีเซอรีน-เอทานอล) เริ่มฟื้นตัว
นายกฤษฎา ประเสริฐสุโข กรรมการผู้จัดการ บริษัท โกลบอลกรีนเคมิคอล จำกัด (มหาชน) หรือ GGC เปิดเผยว่า GGC ยังคงเดินหน้าขับเคลื่อนองค์กร สร้างโอกาสการเติบโตในการดำเนินธุรกิจอย่างมั่นคงและยั่งยืน ตามวิสัยทัศน์ “TO BE A LEADING GREEN CHEMICAL COMPANY BY CREATING SUSTAINABLE VALUE” ภายใต้การเป็นผู้นำผลิตภัณฑ์เคมีเพื่อสิ่งแวดล้อม พร้อมขับเคลื่อนพลังแห่งการสร้างสรรค์ เพื่อคุณค่าที่ยั่งยืน ผ่านยุทธศาสตร์ 3 สร้างดังนี้
เข้มแข็ง : ในธุรกิจหลัก (Core Business) อาทิ เมทิลเอสเทอร์ (ME), แฟตตี้แอลกอฮอล์ (FA) และเอทานอล (EtOH) พร้อมปรับตัวเพื่อรับการเปลี่ยนแปลง โดยมุ่งเน้น Operational Excellence, Commercial Excellence หรือการควบคุมเพื่อลดการเกิดผลกระทบต่อธุรกิจหลัก
เติบโต : โดยการปรับ Portfolio ให้ชัดเจนสำหรับการลงทุนใน 3 กลุ่มธุรกิจ Bioenergy, Biochemicals และ Food Ingredients & Pharmaceutical ภายใต้เป้าหมายการดำเนินการ ได้แก่
- โครงการนครสวรรค์ไบโอคอมเพล็กซ์ระยะที่ 2 (NBC2) : โครงการให้บริการด้านสาธารณูปโภคและโครงสร้างพื้นฐานเพื่อรองรับโรงงานผลิตพลาสติกชีวภาพรายใหญ่Nature Works ปัจจุบันอยู่ระหว่างดำเนินการก่อสร้างและคาดว่าจะแล้วเสร็จภายในปี 2025
- โครงการ TEX Expansion : โดย บริษัท ไทยอีทอกซีเลท จำกัด หรือ TEX บริษัทร่วมทุนระหว่าง GGC และ บริษัท บีเอเอสเอฟ (ไทย) จำกัด (BASF) ในสัดส่วน 50:50% ซึ่งเป็นธุรกิจที่ดำเนินการผลิตผลิตภัณฑ์แฟตตี้แอลกอฮอล์ อีทอกซีเลท (FAEO) โดยเพิ่มกำลังผลิตจาก 1 แสนตันต่อปี เป็น 1.5 แสนตันต่อปี เพื่อยกระดับความสามารถในการแข่งขันและการเติบโตทางธุรกิจในอนาคต
- ต่อยอดธุรกิจภายใต้ผลิตภัณฑ์ที่เป็น High Value Product ในกลุ่มผลิตภัณฑ์ปลายน้ำให้มากขึ้น เพื่อมุ่งเน้นสร้างการเติบโตในกลุ่มธุรกิจส่วนประกอบอาหารและโภชนเภสัช (Food Ingredients & Pharmaceutical) โดยมีแผนออกผลิตภัณฑ์อาหารเสริม ซึ่งเชื่อว่าธุรกิจนี้จะเป็น Portfolio ใหม่ที่สร้างการเติบโตและยั่งยืนให้กับ GGC เนื่องจากผลิตภัณฑ์เป็น Green ซึ่งจะมีความชัดเจนภายในปลายปี 2024
ยั่งยืน : โดย GGC ยึดหลักการดำเนินธุรกิจตามแนวทาง ESG และได้รับการยอมรับในระดับสากล รวมทั้งแสวงหาโอกาสทางธุรกิจจาก Decarbonization และทบทวนเป้าหมายการดำเนินงานให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลง (Business Landscape) โดยมีเป้าหมายด้านการเติบโต คือ EBITDA CAGR ที่ 15% Competitive EBITDA Margin 11% ภายในปี 2030 จากการเติบโตของธุรกิจใหม่มากกว่า 50% โดยสามารถคงเป้าหมายด้าน Net Zero ในปี 2050 ดังนั้น บริษัทฯ จึงมีการทบทวนรายละเอียดการดำเนินการเชิงกลยุทธ์ให้มีความชัดเจน รวมทั้งวัดผลได้
นายกฤษฎา ยังได้กล่าวถึงภาพรวมอุตสาหกรรมในปี 2024 ว่า ตลาดเมทิลเอสเทอร์ (B100) ความต้องการใช้ปรับตัวดีขึ้นจากการบังคับใช้น้ำมันมาตรฐาน EURO 5 ตามนโยบายภาครัฐ เพื่อเพิ่มความเข้มงวดเรื่องการปล่อยมลพิษและฝุ่นละอองจากเครื่องยนต์ ทำให้บริษัทฯ คาดว่าภาครัฐจะยังคงสัดส่วนการผสมไบโอดีเซลที่ B7 เป็นน้ำมันพื้นฐานตลอดทั้งปี และยังได้ประโยชน์จากนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจต่าง ๆ ขณะที่ภาคอุปทานของตลาดเมทิลเอสเทอร์ มีแนวโน้มปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นจากมีการขยายกำลังการผลิตเพิ่มขึ้นของผู้ผลิตรายเดิมและมีราคาคาดว่าจะปรับตัวเพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากปี 2023 ตามราคาน้ำมันปาล์มดิบภายในประเทศ
แฟตตี้แอลกอฮอล์ (Natural Fatty Alcohols) ปรับตัวดีขึ้นเล็กน้อย จากสภาวะเศรษฐกิจโลกที่มี แนวโน้มฟื้นตัวดีขึ้น รวมถึงสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างประเทศรัสเซียกับยูเครน และประเทศอิสราเอลกับกลุ่มฮามาสคลี่คลาย ส่งผลให้ผู้ซื้อส่วนใหญ่กลับมาจัดซื้อสินค้าเพื่อเพิ่มปริมาณสินค้าคงคลัง (restock)
มากขึ้น โดยอุปทานโดยรวมมีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้น จากแผนขยายกำลังการผลิตของผู้ผลิตในประเทศอินโดนีเซีย และยังไม่มีแผนหยุดดำเนินการผลิตของผู้ผลิตรายอื่น และแนวโน้มราคาแฟตตี้แอลกอฮอล์ในปีนี้ปรับเพิ่มขึ้นตามราคาวัตถุดิบน้ำมันเมล็ดในปาล์ม (CPKO) ที่แข็งค่าขึ้น
กลีเซอรีน ปรับตัวดีขึ้นจากสภาวะเศรษฐกิจโลกที่มีแนวโน้มฟื้นตัวดีขึ้น ส่งผลให้ตลาดผลิตภัณฑ์ Epichlorohydrin (ECH) ฟื้นตัว โดยเฉพาะในประเทศจีนประกอบกับความต้องการผลิตภัณฑ์เพื่อสุขอนามัยส่วนบุคคล (Home and Personal Care) รวมถึงผลิตภัณฑ์อาหารและยา มีแนวโน้มฟื้นตัวขึ้นอีกครั้ง
ส่วนอุปทานปรับตัวดีขึ้นจากมีการขยายกำลังการผลิตของผู้ผลิตแฟตตี้แอลกอฮอล์รายใหญ่ ในประเทศอินโดนีเซีย รวมทั้งนโยบายด้านพลังงานของแต่ละประเทศที่มีแนวโน้มสนับสนุนการใช้ไบโอดีเซลเพิ่มขึ้น และราคาเฉลี่ยของกลีเซอรีนมีแนวโน้มปรับตัวขึ้นตามราคาวัตถุดิบน้ำมันปาล์ม
เอทานอล (E100) ปรับตัวเพิ่มขึ้น โดยได้ปัจจัยหนุนจากนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจจากภาครัฐ การลดราคาด้านพลังงานรวมถึงนโยบายลดราคาแก๊สโซฮอล ซึ่งเป็นการเพิ่มอุปสงค์ อีกทั้งภาคการท่องเที่ยวฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง ขณะที่ภาคอุปทานทรงตัว เนื่องจากไม่มีการขยายกำลังการผลิตของผู้ผลิตภายในประเทศ ด้านราคาเอทานอลทรงตัว ตามราคาวัตถุดิบสำหรับการผลิตเอทานอลโดยรวมที่เพิ่มขึ้น
อย่างไรก็ตาม สำหรับผลการดำเนินงานของบริษัทฯ ปี 2023 บริษัทฯ มีผลขาดทุนสุทธิ จำนวน 202 ล้านบาท โดยมีรายได้จากการขาย จำนวน 17,719 ล้านบาท ลดลงจากปีก่อนร้อยละ 29จากการปรับตัวลดลงของราคาขายเมทิลเอสเทอร์และแฟตตี้แอลกอฮอล์ตามราคาวัตถุดิบที่ลดลง แต่บริษัทฯ ได้บันทึกรายการพิเศษ จำนวน 60 ล้านบาท ซึ่งเป็นรายการตีมูลค่ายุติธรรมของหลักประกันเพิ่มขึ้นเป็นผลให้บริษัทฯ ลดการตั้งสำรองค่าใช้จ่ายจากความเสียหายวัตถุดิบคงคลัง และปรับรายการภาษีเงินได้รอตัดบัญชี