บล.ฟิลลิป:

ท่าอากาศยานไทย – AOT

กำไรยังคงฟื้นตัวได้ แม้ค่าใช้จ่ายสูงขึ้น

Key Point

แนวโน้มการฟื้นตัวยังมีต่อเนื่องตามภาคการท่องเที่ยว โดย ธปท. คาดปีนี้มีนักท่องเที่ยว 34.5 ล้านคน +22.6% y-y อีกทั้งยังมีมาตรการรัฐฟรีวีซ่าหนุนนักท่องเที่ยว ซึ่ง AOT คาดผู้โดยสารในปีนี้ +20% เป็น 120 ล้านคนและ ไม่มีมาตรการให้ส่วนลดผู้ประกอบการ คาดรายได้ปีนี้ +39.6% y-y แต่ค่าใช้จ่ายจะสูงขึ้นเช่นกัน ปรับลดกำไรลงเป็น 19,284 ลบ. +119.4% ยังคงคำแนะนำ “ซื้อ” ราคาพื้นฐานใหม่ที่ 74 บาท 

ภาพการท่องเที่ยวยังฟื้นตัวต่อเนื่องจากมาตรการรัฐสนับสนุน

ภาพการท่องเที่ยวยังคงฟื้นตัวได้ต่อเนื่องจากโดยในปี 2567 ทาง ธปท. คาดการณ์นักท่องเที่ยวเดินทางมาไทยที่ 34.5 ล้านคน จากปี 2566 ที่ 28.15 ล้านคน ซึ่งส่วนหนึ่งมาจากมาตรการของรัฐบาลที่ยกเลิกค่าธรรมเนียมวีซ่าให้นักท่องเที่ยวอินเดีย-ไต้หวัน (10 พ.ย. 66 – 10 พ.ค. 67) คาซัคสถาน (25ก.ย. 66 – 29 ก.พ. 67) และจีนยกเลิกวีซ่าถาวรทั้ง 2 ฝ่าย รวมถึงขยายเวลาพำนักนักท่องเที่ยวรัสเซียจาก 30 วัน เป็น 90 วัน (1 พ.ย. 66 – 30 เม.ย. 67) และฟรีวีซ่านักธุรกิจญี่ปุ่นอยู่ในไทยไม่เกิน 30 วัน (1 ม.ค. 67-31 ธ.ค. 69) นักท่องเที่ยวจึงเพิ่มขึ้นต่อเนื่องตั้งแต่ ต.ค. 66 โดย ม.ค. 67 มีนักท่องเที่ยวแล้ว 3.04 ล้านคน +42% y-y โดยจีนมาเป็นอันดับ 1 ที่ 0.59 ล้านคน +454% แทนที่มาเลเซียที่ตกไปอยู่อันดับ 2 ที่ 0.32 ล้านคน +11% (ปีก่อนมาเลเซียเป็นอันดับ 1) อันดับ 3 เกาหลีใต้ที่ 0.22 ล้านคน +31% อันดับ 4 รัสเซีย 0.22 ล้านคน +8% และอันดับ 5 อินเดียที่ 0.16 ล้านคน +58% และยอดสะสม 1 ม.ค. – 11 ก.พ. นักท่องเที่ยว 4.39 ล้านคน +48% y-y โดย 5 ประเทศแรกยังเหมือนเดิม แต่รัสเซียขึ้นมาเป็นอันดับ 3 และเกาหลีใต้ตกไปอยู่อันดับ 4 โดยช่วง 12-18 ก.พ. คาดยังเห็นนักท่องเที่ยวเติบโต ดี เพราะเป็นช่วงเทศกาลตรุษจีน ทาง AOT ให้ข้อมูลว่านักท่องเที่ยวอินเดีย เกาหลีใต้ รัสเซีย ไต้หวันกลับมาสูงกว่าก่อนโควิดแล้ว จากการฟื้นตัวของนักท่องเที่ยวจะส่งผลให้รายได้ AOT ฟื้นตัวได้ต่อเนื่องและปีนี้ AOT คาดผู้โดยสารที่ราว 120 ล้านคน ระหว่างประเทศ 70 ล้านคน และในประเทศ 50 ล้านคน จากปี 2566 ที่ 100 ล้านคน

ค่าใช้จ่ายมีแนวโน้มสูงขึ้นจากปีก่อน

หลังจากประกาศงบ 1Q67 (ต.ค.-ธ.ค. 66) ค่าใช้จ่ายต่าง ๆ สูงขึ้น และมีแนวโน้มต่อเนื่องเทียบกับปีก่อน เช่น ค่าสาธารณูปโภคที่มีแนวโน้มสูงขึ้นจากการปรับขึ้นค่าไฟฟ้า ซึ่งค่าไฟฟ้าคิดเป็นราว 70% ของค่าสาธารณูปโภค, ค่าจ้างภายนอก โดยเฉพาะค่าบริการตรวจสอบผู้โดยสารล่วงหน้า (APPS) ที่จ่ายให้กับ Service Provider คิดเป็นรายหัวจะเพิ่มขึ้นตามผู้โดยสาร, ค่าซ่อมบำรุงรักษาจากการเปิดใช้ SAT-1 และการปรับปรุงสิ่งอำนวยความสะดวกต่าง, ค่าเสื่อมของ SAT-1 ที่เพิ่มขึ้นเดือนละ 195 ล้านบาท หลังเปิดใช้ 28 ก.ย. 66 และการเปิดใช้รันเวย์ 3 งบลงทุน 2.8 หมื่นล้านบาท จะเปิดใช้ ก.ค.67 ตัดค่าเสื่อม 50 ปี จะเพิ่มขึ้นอีกไม่เกิน 50 ล้านบาท/เดือน และค่าใช้จ่ายพนักงานเพิ่มขึ้นจากการ ตั้งสำรองโบนัสตามการดำเนินงานที่ดีขึ้น ปรับขึ้นเงินเดือนพนักงาน การเปิดใช้ SAT-1 และพนักงานที่เพิ่มขึ้นของบ.ย่อย “บริการภาคพื้นท่าอากาศยานไทย : AOTGA” และ “รักษาความปลอดภัย ท่าอากาศยานไทย : AOTAVSEC” ทำให้กำไรอาจฟื้นตัวได้ไม่เร็วอย่างที่เคยคาดไว้

โครงการและแผนการดำเนินงานต่าง ๆ ส่วนใหญ่ยังไม่ค่อยคืบหน้า

การปรับขึ้นค่าบริการผู้โดยสารขาออก (PSC): อยู่ระหว่างหาที่ปรึกษาภายนอกมาทำการศึกษาถึงอัตราที่เหมาะสม คาดจะใช้เวลา 1 ปี ก่อนที่จะเสนอให้สำนักงานการบินพลเรือนฯ (กพท.) อนุมัติ ส่วนการปรับขึ้นค่า PSC ใน เม.ย. ที่ 30 บาท เป็น 730 บาท ขาออกระหว่างประเทศ และ 130 บาท ขาออกภายในประเทศ เป็นเพียงเปลี่ยนวิธีบันทึกรายได้จากรายได้บริการมาเป็นรายได้ค่าบริการผู้โดยสารขาออก ซึ่งไม่มีผลให้รายได้เพิ่มขึ้น

การดำเนินงาน SAT-1: ต้น ก.พ. มีเที่ยวบินกว่า 80 เที่ยว/วัน คาดจะมีสายการบินมาใช้บริการเพิ่ม สิ้น ก.พ. คาดเที่ยวบินเพิ่มเป็น 100 เที่ยว/วัน

แผนการขยายสนามบินเดิม: สนามบินสุวรรณภูมิ รันเวย์ที่ 3 จะเปิดใช้งาน ก.ค. นี้ ส่วนต่อขยายอาคารผู้โดยสารทิศตะวันออก (East Expansion) ที่ได้รับการอนุมัติแล้ว มูลค่าลงทุน 8 พันล้านบาทอยู่ระหว่างปรับแบบ คาดก่อสร้างได้ปลายปี 2567-ต้นปี 2568 เสร็จในปี 2569, สนามบินดอนเมืองเฟส 3 อยู่ระหว่างออกแบบคาดก่อสร้างได้ปี 2568 และเสร็จปี 2573, สนามบินเชียงใหม่เฟส 1 ได้ผู้ออกแบบแล้ว แบบคาดจะเสร็จปลายปี 2567 และขออนุมัติ ครม. ก่อสร้างปี 2568 และเสร็จปี 2571, สนามบินภูเก็ตเฟส 2 กำลังจะได้ผู้รับจ้างออกแบบ ก่อสร้างปี 2569 และเสร็จปี 2572

การรับโอน 3 สนานบินจากกรมูท่าอากาศยาน (ทย): การรับโอน 3 สนามบินอุดรธานี บุรีรัมย์ และกระบี ยังดำเนินงานตามแผน ทั้ง 3 แห่งอยู่ระหว่างขอใบอนุมัติเป็นสนามบินสาธารณะ ซึ่งเงื่อนไสำคัญก่อนรับโอน ส่วนจะรับโอนมากกว่า 3 สนามบินหรือไม่อยู่ที่นโยบายของรัฐบาล

การก่อสร้างสนามบินใหม่ 2 แห่ง: แผนการก่อสร้างสนามบินใหม่ 2 แห่ง คือ ล้านนาและอันดามัน ยังต้องใช้เวลา ต้องจ้างที่ปรึกษาถึงความคุ้มค่าในการลงทุน และต้องเวรคืนที่ดิน

การประมูลผู้ให้บริการภาคพื้น (Ground Handling) รายที่ 3 ที่สนามบินสุวรรณภูมิ: ปัจจุบันมีผู้ให้บริการ 2 ราย คือ THAI และบริษัทย่อยของ BA จะมีการเปิดประมลรายที่ 3 คาดใน 2067 โดย AOTGA (บริษัทย่อย) จะเข้าประมูลด้วย ปัจจุบัน AOTGA ให้บริการที่สนามบินดอนเมืองและภูเก็ต

การยกเลิกดิวตี้ฟรีขาเข้า: จากนโยบายของกระทรวงการคลังที่จะยกเลิกดิวตี้ฟรีขาเข้า ปัจจุบันยังไม่มีความคืบหน้า อยู่ระหว่างศึกษาถึงผลดีผลเสีย โดยพื้นที่ของดิวตี้ฟรีขาเข้าคิดเป็น 10%-15% ของ พื้นที่ดิวตี้ฟรีทั้งหมด ซึ่งไม่ส่งผลอย่างมีนัยต่อรายได้ของ AOT

ปรับประมาณการลง ราคาพื้นฐานปรับเป็น 74 บาท ยังคงแนะนำ “ซื้อ”

แนวโน้ม 2Q67 คาดยังดีต่อเนื่องตามภาคการท่องเที่ยวที่เป็น high season ต่อมาจาก 1Q67 แต่ทางฝ่ายได้ปรับลดผู้โดยสารลงมาให้เท่ากับ AOT คาดการณ์ไว้ ปรับคาดรายได้ในปีนี้ลงเป็น 67,218 ล้านบาท ยังโต 39.6% y-y และปรับเพิ่มค่าใช้จ่ายขึ้นตามทิศทางของ 1Q67 จึงลดคาดการณ์กำไวปีนี้ลงจากเดิม 18.7% เป็น 19,284 ล้านบาท +119.4% y-y อิงวิธี DCF (WACC = 7%, Terminal G 3.5%) ราคาพื้นฐานปรับเป็น 74 บาท จากเดิม 77 บาท ยังคงคำแนะนำ “ซื้อ”

ความเสี่ยง

  1. ความเสี่ยงจากนโยบายของรัฐ ที่อาจมีผลต่อการดำเนินงาน
  2. ความเสี่ยงจากการลงทุนในอนาคต
  3. ความเสี่ยงจากปัจจัยภายนอก เช่น เหตุก่อการร้าย โรคระบาด ภัยธรรมชาติ
- Advertisement -