SM สุดสตรอง! ปี 67 ตั้งเป้าพอร์ตสินเชื่อและรายได้รวมเติบโตต่อเนื่องแตะออลไทม์ไฮ เปิดกลยุทธ์ใช้ระบบไอทีคุมคุณภาพหนี้-เพิ่มลูกค้าใหม่ ระบุโครงการ Easy E-Receipt หนุนผลงาน Q1/67 ทรงดี
บมจ.สตาร์ มันนี่ (SM) สัญญาณแจ่ม! ปี 67 ตั้งเป้าการขายและสินเชื่อใหม่เติบโตรวมไม่ต่ำกว่า 10% มั่นใจพอร์ตสินเชื่อและรายได้รวมเติบโตแตะออลไทม์ไฮ ฟากบิ๊กบอส “ชูศักดิ์ วิวัฒน์วงศ์เกษม” เปิดกลยุทธ์ใช้ระบบไอทีควบคุมคุณภาพหนี้ และเพิ่มฐานลูกค้าใหม่ เดินหน้าสกรีนคุณภาพลูกค้าอย่างเข้มข้น ประเดิมไตรมาส 1/67 ได้รับอานิสงส์ มาตรการ Easy E-Receipt หนุนผลงานทรงดี ตั้งแต่ต้นปี
นายชูศักดิ์ วิวัฒน์วงศ์เกษม กรรมการผู้จัดการ บริษัท สตาร์ มันนี่ จำกัด (มหาชน) หรือ SM ผู้ประกอบธุรกิจปล่อยสินเชื่อแบบมีหลักประกัน รวมถึงสินเชื่อส่วนบุคคลภายใต้การกำกับของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่าภาพรวมแผนธุรกิจปี 2567 บริษัทฯ ตั้งเป้าการขายสินค้าและสินเชื่อใหม่เติบโตรวมไม่ต่ำกว่า 10 % จากปีก่อน ช่วยให้พอร์ตสินเชื่อเติบโตทำสถิติสูงสุดใหม่ (All Time High) ของบริษัทฯ จากสิ้นปีก่อน 2,500 ล้านบาท และส่งผลให้รายได้รวมเติบโต All Time High เช่นเดียวกัน
โดย SM จะเน้นกลยุทธ์ในการนำระบบเทคโนโลยีที่มีประสิทธิภาพมาเป็นเครื่องมือสำคัญในการขยายธุรกิจ ให้สามารถรองรับการให้บริการลูกค้าได้ทั่วทุกภูมิภาคของประเทศ ช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการให้บริการด้านการขายและการให้สินเชื่อ โดยมีการนำเอาData Analytic มาช่วยวิเคราะห์ข้อมูลและพัฒนาระบบให้สามารถนำเสนอผลิตภัณฑ์ให้เหมาะสมกับความต้องการและคุณสมบัติของลูกค้า รวมถึงความสามารถในการชำระหนี้ ทั้งข้อมูลด้านอาชีพ รายได้ ที่อยู่อาศัย เพื่อช่วยเพิ่มคุณภาพหนี้ รวมถึงยังช่วยอำนวยความสะดวกรวดเร็วให้กับลูกค้า โดยตั้งเป้าหมายในการช่วยลดระยะเวลาในการให้บริการลง40% จากปัจจุบัน
ที่สำคัญบริษัทยังได้พัฒนาระบบ Machine Learning เพื่อช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการอนุมัติสินเชื่อซึ่งระบบนี้จะสามารถช่วยพยากรณ์คุณภาพหนี้ที่จะเกิดขึ้นของลูกค้าทั้งก่อนและหลังการอนุมัติสินเชื่อ ช่วยพยากรณ์ชั้นหนี้และการไหลตกชั้นหนี้ของลูกหนี้แต่ละรายที่เกิดขึ้น โดยวิเคราะห์จากพฤติกรรมการผ่อนชำระที่ผ่านมา ซึ่งระบบดังกล่าวจะช่วยทำให้บริษัทสามารถจัดกลุ่มลูกค้า เพื่อจัดกิจกรรมส่งเสริมการตลาดให้กับกลุ่มลูกค้าที่มีประวัติดี พร้อมเป็นการเฝ้าระวังกลุ่มลูกค้าที่คาดว่าจะมีพฤติกรรมการชำระหนี้ไม่ดี ประโยชน์โดยรวมจึงช่วยทำให้บริษัทสามารถขยายธุรกิจ เพิ่มสินเชื่อที่มีคุณภาพและยังสามารถช่วยในการบริหารหนี้ได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้นด้วย
ปีนี้บริษัทฯ จะปรับกลยุทธ์โดยมุ่งเน้นการเติบโตของสินเชื่อเช่าซื้อจากการขายสินค้ามากขึ้น โดยเฉพาะหมวดสินค้าโทรศัพท์มือถือ ซึ่งบริษัทฯ ได้นำเอาระบบเทคโนโลยีการล๊อคโทรศัพท์มือถือมาใช้ หากพบว่าลูกค้าขาดการชำระค่างวด บริษัทฯจะดำเนินการล๊อคโทรศัพท์มือถือของลูกค้าทันที เพื่อให้ลูกค้าติดต่อเข้ามาเพื่อชำระค่างวด และบริษัทฯ จะดำเนินการปลดล๊อคให้ จากที่ผ่านมาพบว่า การชำระหนี้ของลูกค้าหมวดโทรศัพท์มือถือปรับตัวดีขึ้นได้ผลเป็นที่น่าพอใจ และบริษัทฯ ยังมีแผนการพัฒนาระบบเทคโนโลยีดังกล่าวไปใช้กับหมวดสินค้าประเภทอื่น ๆ เพื่อเพิ่มคุณภาพในการชำระหนี้ของสินเชื่อเช่าซื้อให้ดีมากยิ่งขึ้นด้วย
“ส่วนภาพรวมของผลการดำเนินงานในไตรมาส 1/2567 คาดว่าจะมีทิศทางที่ดี เนื่องจากส่วนหนึ่งได้รับอานิสงส์มาตรการ Easy E-Receipt ของภาครัฐ ที่ให้ประชาชนสามารถซื้อสินค้า และบริการเพื่อนำมาลดหย่อนภาษีปี 2567 (ยื่นปี 2568) ได้สูงสุด 50,000 บาท โดยซื้อสินค้าหรือบริการตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม – 15 กุมภาพันธ์ 2567 กับร้านค้าที่สามารถออกใบกำกับภาษีแบบเต็มรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ หรือ e-Tax Invoice ได้เท่านั้น รวมถึงรายได้จากธุรกิจนายหน้าประกันวินาศภัยที่จะเติบโตควบคู่ไปกับธุรกิจการให้สินเชื่อ ตลอดจนการเดินหน้าเพิ่มฐานลูกค้าใหม่ให้เพิ่มมากขึ้นจากจำนวน 60,000 รายที่มีอยู่ในปัจจุบัน พร้อมเป้าหมายควบคุมคุณภาพหนี้ บริหารจัดการ NPL ให้อยู่ในระดับไม่เกิน 3.6% นอกจากนี้ยังคงเดินหน้าสำรวจพื้นที่ในทำเลที่มีศักยภาพเพื่อเปิดสาขาเพิ่มเติมต่อไป “ นายชูศักดิ์ กล่าวที่สุด
อย่างไรก็ตาม SM ยังได้รับประโยชน์จากการมีสาขาเกือบทั้งหมดอยู่ในพื้นที่เขต EECที่กำลังเติบโตตามอุตสาหกรรมและการลงทุน ทั้งจากภาครัฐ ภาคเอกชนทั้งในและต่างประเทศ อาทิเช่น อุตสาหกรรมรถยนต์ไฟฟ้า (EV) ที่มีผู้ประกอบการระดับโลกมาลงทุนสร้างฐานการผลิต ก่อให้เกิดการจ้างงานจำนวนมาก และจะสนับสนุนให้ธุรกิจของ SM มีโอกาสเติบโตได้อย่างมีนัยสำคัญ โดยปัจจุบันธุรกิจหลักของ SM ได้แก่ 1. จำหน่ายสินค้าเครื่องใช้ไฟฟ้าภายในบ้านและเครื่องใช้ไฟฟ้าเพื่อการพาณิชย์ เช่น โทรทัศน์ ตู้เย็น โทรศัพท์มือถือ คอมพิวเตอร์ รถจักรยานยนต์ และ 2. ธุรกิจให้บริการปล่อยสินเชื่อแบบมีหลักประกัน และสินเชื่อบุคคล โดยหลักประกันเงินให้กู้ยืม เช่น เล่มทะเบียนรถจักรยานยนต์ โฉนดที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้าง และให้บริการอื่นเพิ่มเติม เช่น การเป็นนายหน้าประกันวินาศภัย หรือ ประกันชีวิต เป็นต้น