IP เคาะจ่ายปันผลเป็นหุ้น อัตรา 8 หุ้นเดิม : 5 หุ้นใหม่ พ่วงเงินสด 0.0348 บาท/หุ้น จ่อขยับเข้า SET เพิ่มโอกาสการลงทุน มุ่งสู่บริษัทนวัตกรรมร่วมลงทุนใน นวัตกรรม Gene Therapy กับญี่ปุ่น พร้อมซื้อกิจการบริษัทเครื่องมือแพทย์ด้านเวชศาสตร์ฟื้นฟูและกายภาพบำบัด ปิดผลงานปี 66 รายได้ขายและบริการโต 17% เฉียด 1,800 ล้านบาท
บอร์ด บมจ.อินเตอร์ ฟาร์มา ไฟเขียวจ่ายปันผลเป็นหุ้นสามัญ อัตรา 8 หุ้นเดิม ต่อ 5 หุ้นปันผล พ่วงเงินสดอัตรา 0.0348 บาทต่อหุ้น รวมจ่ายปันผล 0.3473 บาทต่อหุ้น กำหนดจ่าย 24 พฤษภาคม 2567 พร้อมอนุมัติเพิ่มทุนจดทะเบียนอีกกว่า 146ล้านบาท รองรับจ่ายปันผล-แผนขยับจากตลาด mai เข้า SET ขยายโอกาสรับนักลงทุนสถาบัน-ต่อยอดการลงทุนสยายปีกการเติบโต ล่าสุดเข้าเทคกิจการ 70% “METTA” ธุรกิจขายเครื่องมือแพทย์พร้อมคลินิกกายภาพบำบัด พร้อมร่วมลงทุนนวัตกรรม Gene Therapy ประเทศญี่ปุ่น ต่อจิ๊กซอว์การเติบโตแกร่ง กวาดรายได้ขายและบริการโต 17% แตะ 1,781 ล้านบาท ตามการเติบโตของทุกกลุ่มธุรกิจ
ดร.ตฤณวรรธน์ ธนิตนิธิพันธ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท อินเตอร์ ฟาร์มา จำกัด (มหาชน) หรือ IP ผู้ดำเนินธุรกิจด้านการพัฒนา คิดค้น และจำหน่ายผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพและนวัตกรรมความงามสำหรับคน และผลิตภัณฑ์สุขภาพสำหรับสัตว์เลี้ยงและปศุสัตว์ เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการบริษัท (บอร์ด) ณ วันพฤหัสบดีที่ 29 กุมภาพันธ์ 2567 มีมติอนุมัติจ่ายปันผลงวดปี 2566 เป็นหุ้นสามัญของบริษัท ในอัตรา 8 หุ้นเดิม ต่อ 5 หุ้นปันผล จำนวน 232,825,328 หุ้น มูลค่าที่ตราไว้หุ้นละ 0.50 บาท คิดเป็นอัตราการจ่ายเงินปันผลราว 0.3125 บาทต่อหุ้น รวมมูลค่า 116 ล้านบาท พร้อมจ่ายปันผลเป็นเงินสดอัตรา 0.0348 บาทต่อหุ้น คิดเป็นมูลค่าราว 13 ล้านบาท รวมจ่ายปันผลทั้งหมดอัตรา 0.3473 บาทต่อหุ้น คิดเป็นมูลค่ารวมราว 129 ล้านบาท ซึ่งเป็นไปตามนโยบายการจ่ายปันผลของบริษัท โดยกำหนดรายชื่อผู้ถือหุ้นที่มีสิทธิรับปันผล (Record Date) วันที่ 8พฤษภาคม 2567 และจ่ายปันผล ในวันที่ 24 พฤษภาคม 2567
นอกจากนี้ ที่ประชุมบอร์ดยังมีมติอนุมัติเพิ่มทุนจดทะเบียนบริษัทจากทุนจดทะเบียนเดิมจำนวน 233 ล้านบาท เป็นทุนจดทะเบียนใหม่จำนวน 378 ล้านบาท ด้วยการออกหุ้นสามัญเพิ่มทุนจำนวน 291 ล้านหุ้น มูลค่าที่ตราไว้หุ้นละ 0.50 บาท เพื่อรองรับการจ่ายหุ้นปันผลจำนวน ไม่เกิน 233 ล้านหุ้น และเพื่อรองรับการปรับอัตราการใช้สิทธิของใบสำคัญแสดงสิทธิที่จะซื้อหุ้นสามัญของบริษัทครั้งที่ 2 (IP-W2) จำนวน 58 ล้านหุ้น ซึ่งทั้งหมดจะนำเสนอต่อที่ประชุมสามัญผู้ถือหุ้นประจำปี 2567 ในวันที่ 26 เมษายน 2567 เพื่อพิจารณาอนุมัติต่อไป
“แผนเพิ่มทุนจดทะเบียนนั้น นอกจากจะรองรับการจ่ายปันผลในรอบนี้แล้ว สาเหตุสำคัญเพราะเราต้องการขยับบริษัทจากตลาด mai ไป SET เพื่อขยายโอกาสรองรับนักลงทุนสถาบันรายใหญ่จากต่างชาติ รวมถึงนักลงทุนสถาบันในประเทศที่ให้ความสนใจบริษัท พร้อมรองรับแผนการลงทุนต่อยอดการเติบโตแบบก้าวกระโดดอย่างต่อเนื่อง เดินหน้าสร้างผลตอบแทนที่ดีให้กับผู้ถือหุ้นต่อไป” ดร.ตฤณวรรธน์ กล่าว
ดร.ตฤณวรรธน์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ที่ประชุมบอร์ดยังมีมติอนุมัติให้เข้าลงทุนด้วยการซื้อหุ้น บริษัท เมตตา เมดเทค จำกัด (METTA) ซึ่งประกอบธุรกิจขายเครื่องมือทางการแพทย์โดยเน้นที่เกี่ยวข้องกับการบรรเทาอาการปวด Neuro Rehabs และ Robotic Rehabs และกิจการคลินิกที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพหรือการฟื้นฟูสุขภาพ ในสัดส่วน 70% ของทุนจดทะเบียนที่ออกและชำระแล้วของ METTA ซึ่งเบื้องต้นบริษัทฯตั้งเป้าจะนำ METTA เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ MAI พร้อม รพ นครพัฒน์ ในปี 2569 ในขณะที่ Lab Pharmacy ตั้งเป้าจะยื่นคำขอเพื่อเสนอขายหุ้น (ไฟลิ่ง) ต่อคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ในต้นปี 2568 นอกจากนี้ ล่าสุดบริษัทฯยังได้ร่วมลงทุนเกี่ยวกับนวัตกรรมการรักษาโรคพาร์กินสันด้วย Gene Therapy หรือการบำบัดโรคด้วยพันธุกรรม ในประเทศญี่ปุ่น วงเงินลงทุนราว 1.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพื่อเป็นทางเลือกใหม่ในการักษาของผู้ป่วยในภูมิภาคอาเซียน มุ่งสู่การเป็นบริษัทนวัตกรรมขั้นสูง ต่อยอดโอกาสขับเคลื่อนการเติบโตแบบก้าวกระโดดต่อเนื่อง ภายใต้การมุ่งเน้นสร้างผลตอบแทนที่ดีให้กับนักลงทุน
สำหรับภาพรวมผลการดำเนินงานงวดปี 2566 บริษัทฯมีกำไรสุทธิ 59 ล้านบาท โดยกำไรขั้นต้นเพิ่มขึ้นราว 7% จาก 618 ล้านบาท ในช่วงเดียวกันปีก่อน เป็น 659 ล้านบาท กวาดรายได้จากการขายและบริการเพิ่มขึ้นราว 17% จากช่วงเดียวกันปีก่อนแตะ 1,781 ล้านบาท ตามการเติบโตของทุกกลุ่มธุรกิจ ทั้งกลุ่มผลิตภัณฑ์สำหรับคนและสัตว์เลี้ยง รวมถึงธุรกิจร้านขายยา ภายใต้แบรนด์ Lab Pharmacy ที่ปัจจุบันเปิดให้บริการทั้งหมด 32 สาขาและจะเพิ่มเป็น 41 สาขาภายในสิ้นปี 2567 และการเติบโตจากธุรกิจโรงพยาบาล ที่กำลังปรับปรุงต่อเติมอาคารให้ทันสมัยและขยายการให้บริการใหม่ๆ
สำหรับผลกำไรสุทธิ ที่ลดลง มาจากการลงทุนในการโฆษณาสร้างแบรนด์อย่างหนัก ใน ผลิตภัณฑ์ หลักๆ ของบริษัท อาทิเช่น Bella Para, Probac, PreBO, ยาสีฟัน Yuuu, Maria เป็นต้น รวมไปถุึงการลงทุนขยายสาขาร้่านขายยา ทำให้ค่าใช้จ่ายในการขายและบริหารอยู่ที่ราว 568 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 24% เทียบจากช่วงเดียวกันปีก่อน ปัจจัยสำคัญมาจากค่าสื่อโฆษณาทางโทรทัศน์, ป้ายโฆษณา และช่องทางออนไลน์ทุกแพลตฟอร์ม รวมถึงค่าคอมมิชชั่น, ค่าขนส่งและกระจายสินค้า, เงินเดือนและค่าใช้จ่ายฝ่ายขายที่เพิ่มขึ้นตามการขยายร้านสาขา นอกจากนี้ยังมีค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับพนักงานบริษัทย่อยที่เกิดจากการรวมธุรกิจร้านขายยาและโรงพยาบาล รวมถึงค่าเสื่อมโรงงาน
บริษัทอินเตอร์ฟาร์มา กำลัง วิจัยและพัฒนา เพื่อเป็นบริษัทนวัตกรรม ใน
1 นวัตกรรม ยาตา
2 นวัตกรรม Gene and Cell Therapy
- นวัตกรรม ด้าน เวชศาสตร์ฟื้นฟู และกายภาพบำบัด
- นวัตกรรม โรคภูมิคุ้มกัน และโรคมะเร็ง
ซึ่งคาดว่า จะตอบสนองต่อความต้องการจำที่มากขึ้นอย่างมากในอนาคต