ASIAN ประกาศผลงานปี 66 ทำรายได้ 9,581 ลบ. และสร้างกำไร 303 ลบ. บอร์ดไฟเขียวปันผล 0.29 บ./หุ้น ลั่นลุยโตต่อปี 67 ตั้งเป้ารายได้พุ่ง 18% พร้อมทุ่มงบลงทุน 535 ลบ.
‘บมจ. เอเชี่ยนซี คอร์ปอเรชั่น หรือ ASIAN’ เผยงบปี 66 ปิดผลงานได้ตามคาด ทำรายได้ 9,581 ล้านบาท และมีอัตรากำไรขั้นต้นที่ 12.6% จากธุรกิจอาหารสัตว์เลี้ยง-อาหารทะเลแช่เยือกแข็ง แม้บางส่วนถูกกระทบจากปริมาณการขายที่ลดลงจากลูกค้าในตลาดหลักทั้งสหรัฐฯ และยุโรป ส่วนธุรกิจอาหารสัตว์น้ำโตสวนทาง หลังปรับปรุงสูตรและคัดสรรวัตถุดิบมีคุณภาพ ขณะที่ปี 2567 มั่นใจผลประกอบการฟื้นตัวต่อ ตั้งเป้ารายได้โต 18% แตะ 11,300 ล้านบาท และเดินหน้าทุ่มงบลงทุน 535 ล้านบาท หวังเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตและรองรับการขยายงานในอนาคต ขณะที่บอร์ดไฟเขียวจ่ายเงินปันผลอีก 0.29 บาทในวันที่ 24 พ.ค. นี้
นายเอกกมล ประสพผลสุจริต ประธานเจ้าหน้าที่บริหารสายการเงิน บริษัท เอเชี่ยนซี คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ ASIAN เปิดเผย ภาพรวมปี 2567 ประเมินสถานการณ์คาดปรับตัวดีขึ้นจากปีที่ผ่านมา โดยหลักมาจากธุรกิจอาหารสัตว์เลี้ยงที่กลับมาเติบโต เบื้องต้นคาดเติบโต 24% และธุรกิจอาหารสัตว์น้ำที่คาดโตสูงถึง 35% ส่วนธุรกิจทูน่าและธุรกิจอาหารทะเลแช่เยือกแข็งคาดโตเพียงเล็กน้อย พร้อมตั้งเป้าหมายรายได้ปี 67 ที่ 11,300 ล้านบาท หรือโต 18% จากปีก่อนที่ทำได้ 9,581 ล้านบาท แบ่งเป็นธุรกิจอาหารสัตว์เลี้ยง 5,400 ล้านบาท ธุรกิจอาหารสัตว์น้ำ 1,600ล้านบาท ธุรกิจทูน่า 1,100 ล้านบาท และธุรกิจอาหารทะเลแช่เยือกแข็ง 3,200 ล้านบาท ตามลำดับ
นอกจากนี้ บริษัทยังได้ตั้งงบลงทุนเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตและรองรับการขยายงานในอนาคตไว้รวม 535 ล้านบาท แบ่งเป็น ธุรกิจอาหารสัตว์เลี้ยง 431 ล้านบาท ธุรกิจอาหารสัตว์น้ำ 64 ล้านบาท และธุรกิจอาหารทะเลแช่เยือกแข็งอีก 40 ล้านบาท
และเพื่อตอบแทนผู้ถือหุ้นที่ไว้วางใจ คณะกรรมการบริษัทฯ มีมติจ่ายเงินปันผลจากงบปี 2566อีก 0.29 บาทต่อหุ้น รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 236.1 ล้านบาท โดยจะกำหนดรายชื่อผู้มีสิทธิรับเงินปันผลในวันที่ 8 พ.ค. 2567 และจ่ายวันที่ 24 พ.ค. 2567 หลังมีการจ่ายปันผลระหว่างกาลไปแล้ว 0.08บาทต่อหุ้น
สำหรับ ผลประกอบการปี 2566 บริษัทมีรายได้ 9,581 ล้านบาท ลดลง 14% เมื่อเทียบช่วงเดียวกันปีก่อนที่ 11,164 ล้านบาท และอัตรากำไรขั้นต้นปี 2566 ที่ลดลงมาแตะ 12.6% จากปี2565 ที่ 18.2% ทั้งนี้ สาเหตุหลักมาจากคำสั่งซื้อที่ชะลอตัวอย่างมีนัยสำคัญจากตลาดหลักทั้งสหรัฐฯ และยุโรป โดยเฉพาะตลาดยุโรปที่เผชิญกับเศรษฐกิจที่ชะลอตัวและอัตราเงินเฟ้ออยู่ในระดับสูง ซึ่งกระทบต่อรายได้ธุรกิจอาหารสัตว์เลี้ยงและธุรกิจอาหารทะเลแช่เยือกแข็งมีรายได้ลดลง29% และ 10% ตามลำดับ รวมถึงอัตรากำไรขั้นต้นที่ลดลงเนื่องจากทั้งธุรกิจอาหารสัตว์เลี้ยงและผลิตภัณฑ์ที่เป็นมูลค่าเพิ่มในธุรกิจอาหารทะเลแช่เยือกแข็งเป็นธุรกิจที่มีอัตรากำไรขั้นต้นที่ดี ขณะที่ธุรกิจทูน่าและธุรกิจอาหารสัตว์น้ำมีรายได้เพิ่มขึ้น 8% และ 27% ตามลำดับ
ส่วนกำไรสุทธิอยู่ที่ 303 ล้านบาท ลดลงตามปริมาณการขายโดยรวมซึ่งอยู่ที่ 76,248 ตัน จากปริมาณการส่งออกที่ลดลงทั้งในธุรกิจอาหารสัตว์เลี้ยงและอาหารทะเลแช่เยือกแข็ง หลังลูกค้าหลักในตลาดประเทศสหรัฐฯ มีการปรับลดสินค้าคงคลังและเศรษฐกิจที่ยุโรปที่ชะลอตัว ขณะที่รายได้ธุรกิจอาหารสัตว์น้ำเพิ่มขึ้น 27% ตามปริมาณการขายที่เพิ่มขึ้น 13% จากการพัฒนาวัตถุดิบและปรับสูตรคุณภาพอาหารให้ดีขึ้น ส่งผลให้บริษัทมีส่วนแบ่งการตลาดเพิ่มขึ้น
ทั้งนี้ หากพิจารณาตามประเภทธุรกิจพบว่า ธุรกิจอาหารสัตว์เลี้ยงยังคงมีสัดส่วนยอดขายมากที่สุด 45% รองลงมาคือธุรกิจอาหารทะเลแช่เยือกแข็งที่ 32% ธุรกิจอาหารสัตว์น้ำ 12% และธุรกิจทูน่า 11% ตามลำดับ ขณะที่ภาพรวมผลประกอบการปี 2566 ถือว่าเป็นไปตามที่บริษัทได้ประเมินและคาดการณ์ไว้ว่าจะมีรายได้ประมาณ 9,600-9,700 ล้านบาท และมีอัตรากำไรขั้นต้นอยู่ระหว่าง 12-13%
สำหรับไตรมาส 4/2566 บริษัทมีรายได้ 2,435 ล้านบาท ลดลง 3.4% เมื่อเทียบช่วงเดียวกันของปีก่อนที่ 2,520 ล้านบาท และมีกำไรสุทธิอยู่ที่ 81 ล้านบาท ลดลง 64% เทียบช่วงเดียวกันปีก่อนที่ 223 ล้านบาท สาเหตุหลักมาจากรายได้ธุรกิจอาหารสัตว์เลี้ยงที่ลดลงตามปริมาณการขายอยู่ที่ 18,377 ตัน หลังลูกค้ามีการปรับลดสินค้าคงคลังลง เช่นเดียวกับอัตรากำไรขั้นต้นที่ลดลงจากปีก่อน ส่วนธุรกิจอาหารสัตว์น้ำมีรายได้ใกล้เคียงไตรมาสเดียวกันของปีก่อนแม้บริษัทจะมีการหยุดขายอาหารปลาเป็นการชั่วคราว