ปัจจัยต่างประเทศ: ตัวเลขเศรษฐกิจจีนออกมาโดยรวมต่ำกว่าคาดทั้งตัวเลข GDP ขยายตัวเพียง 4.9% ซึ่งต่ำกว่าที่คาดว่าจะขยายตัวราว 5.2% ส่วนการผลิตภาคอุตสาหกรรมเดือนก.ย.ขยายตัวเพียง 3.1% ต่ำกว่าคาดการณ์ที่ระดับ 4.5% อย่างไรก็ตามตัวเลข Retail sales ยังสามารถขยายตัวได้ 4.4% สูงกว่าที่ตลาดคาดที่ 3.3% จากสถาณการณ์โควิดที่ดูดีขึ้น ภาพตัวเลขเศรษฐกิจจีนโดยรวมที่ชะลอตัวลงมากกว่าคาด จากหลายปัจจัยรุมเร้าจากการแพร่ระบาดโควิดที่ทำให้ต้องปิดท่าเรือส่งผลต่อการขนส่งชะงักงัน, ปัญหาพลังงานขาดแคลนรวมถึงความเสี่ยงในภาคอสังหาริมทรัพย์จากการผิดนัดชำระหนี้ของ Evergrande ขณะที่มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของจีนค่อนข้างจำกัด มองไปในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี 2564 คาดว่าเศรษฐกิจจีนยังคงเติบโตในอัตราที่ชะลอตัวลง จากทั้งฐานที่สูงในปีก่อนและจากปัจจัยความไม่แน่นอนที่รุมเร้า โดยเฉพาะวิกฤติพลังงานขาดแคลนที่อาจจะลากยาวข้ามช่วงฤดูหนาวของปี เป็น sentiment ลบที่เข้ามากดดันตลาดและเพิ่มความกังวลว่าเศรษฐกิจจีนที่ชะลอตัวนี้จะฉุดการเติบโตของเศรษฐกิจโลกมากน้อยขนาดไหน จากความเชื่อมโยงที่สูงระหว่างห่วงโซ่การผลิตจีนและโลก โดยเฉพาะตอนนี้นักลงทุนค่อนข้างกังวลต่อโอกาสที่จะเข้าสู่สภาวะ Stagflation (เศรษฐกิจชะลอตัวแรง ขณะที่เงินเฟ้อพุ่งขึ้นระดับสูงต่อเนื่อง) อย่างไรก็ตามเรายังเชื่อว่าทางการจีนหลังจากนี้จะเริ่มผ่อนคลายและออกมาตรการพยุงเศรษฐกิจเพิ่มเติม โดยทางผู้ว่าแบงค์ชาติจีนออกมายืนยันชัดเจนว่าประเด็น Evergrande จะสามารถควบคุมได้และจะไม่เป็นความเสี่ยงเชิงระบบ

ทั้งนี้เราคาดว่าปัจจัยฤดูรายงานผลประกอบการบริษัทจดทะเบียนสหรัฐฯ จะเป็นตัวกำหนดทิศทางตลาดหุ้นในช่วงสัปดาห์นี้และสัปดาห์หน้า เนื่องจากใน 2 สัปดาห์นี้จะมีบริษัทจำนวนมากกว่า 50% ของบริษัททั้งหมดในดัชนี S&P500 รายงานผลประกอบการออกมา ซึ่งหากการรายงานของบริษัทชั้นนำออกมาดีกว่าคาดและมี guidance เชิงบวกต่อการเติบโตของบริษัทในระยะข้างหน้า จะช่วยเป็นแรงสนับสนุน sentiment บวกต่อตลาดหุ้นสหรัฐฯและอาจส่งผล sentiment เชิงบวกต่อตลาดหุ้นโลก

ปัจจัยภายในประเทศ: ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินผลกระทบเศรษฐกิจจีนชะลอตัวต่อเศรษฐกิจไทยว่าในฐานะที่ไทยพึ่งพาการนำเข้าจากจีนในสัดส่วนสูงถึง 24% ในปี 2563 และสินค้าส่วนใหญ่เป็นการผลิตในอุตสาหกรรมหนัก ดังนั้นการชะงักงันของภาคผลิตจีนจากการขาดแคลนพลังงานและต้นทุนทางพลังงานที่สูงขึ้น อาจส่งผลต่อปริมาณที่ลดลงและราคาสินค้าที่เพิ่มขึ้นในสินค้าที่มีการผลิตโดยการใช้พลังงานเข้มข้น อาทิ เหมืองแร่ เหล็ก อะลูมิเนียม เคมีภัณฑ์ เครื่องจักรหนัก พลาสติก ซึ่งผู้ประกอบการไทยต้องเตรียมรับมือกับผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้น

มุมมองตลาดหุ้น วันนี้คาด SET 1640-1650 หุ้นแนะนำ PTTGC

1)  PTTGC (ราคาพื้นฐาน 69.40 บาท) ได้รับ sentiment บวกหลังผู้ผลิตเคมีภัณฑ์ในยุโรปเริ่มเก็บค่าธรรมเนียมเพิ่มจากวิกฤติด้านพลังงาน คาดว่าจีนจะทำตามยุโรปซึ่งจะเพิ่ม upside ต่อราคาโอเลฟินส์ในเอเชีย นอกจากนี้เราคาดว่ากำไรจะฟื้นตัวดีขึ้นในไตรมาสสี่จากราคา PE ที่สูงขึ้นและการฟื้นตัวของโรงกลั่น

รายงานตัวเลขเศรษฐกิจ

วันอังคาร ติดตาม ตัวเลข Housing starts ของสหรัฐฯ เดือน ก.ย. คาด -0.9% MoM เป็น 1.6 ล้านยูนิต และตัวเลข Building Permits ของสหรัฐฯ เดือน ก.ย. คาด -1.8% MoM เป็น 1.69 ล้านยูนิต

วันพุธ ติดตาม ตัวเลขส่งออก และนำเข้าของญี่ปุ่นเดือน ก.ย. คาด +11% YoY และ +34% YoY ตามลำดับ ตัวเลข Loan Prime Rate 1 ปีของจีน คาดคงดอกเบี้ยที่ 3.85% ตัวเลข House Price Index เดือน ก.ย. ของจีนคาด +4% YoY ดัชนีราคา PPI ของเยอรมันเดือน ก.ย. คาด +1% MoM และ +12.7% YoY และปริมาณสต๊อกน้ำมันดิบสหรัฐฯ รายสัปดาห์

วันพฤหัสฯ ติดตาม ตัวเลข Existing Home Sales ของสหรัฐฯ เดือน ก.ย. คาด +1.2% MoM เป็น 5.95 ล้านยูนิต ตัวเลขการขอรับสวัสดิการว่างงานของสหรัฐฯรายสัปดาห์คาด 2.98 แสนคน

วันศุกร์ ติดตาม ตัวเลขส่งออก และนำเข้าของไทยเดือน ก.ย. ดุลการค้าของไทยเดือน ก.ย. ตัวเลข Inflation และ Core Inflation เดือน ก.ย. ของญี่ปุ่นเดือน ก.ย. คาด -0.3% YoY และ +0.1% YoY ตามลำดับ ตัวเลข Markit Manufacturing PMI Flash ของยูโรโซน เดือน ต.ค. คาด -2.7% MoM เป็น 57 จุด ตัวเลข Markit Service PMI Flash ของยูโรโซน เดือน ต.ค. คาด -1.8% MoM เป็น 55.4 จุด ตัวเลข Markit Manufacturing PMI Flash ของสหรัฐฯ เดือน ต.ค. คาดทรงตัว MoM ที่ 60.3 จุด และตัวเลข Markit Service PMI Flash ของสหรัฐฯ เดือน ต.ค. คาดทรงตัว MoM ที่ 55.1 จุด

- Advertisement -