BKGI ฮอตปรอทแตก! ไอพีโอขายเกลี้ยง 160 ล้านหุ้น ลั่นระฆังเทรดใน SET 20 มี.ค.นี้ โชว์ศักยภาพการแพทย์จีโนมิกส์ ธุรกิจแห่งอนาคต
บมจ.แบงคอกจีโนมิกส์อินโนเวชั่น (BKGI) หุ้นไอพีโออนาคตไกล ขายเกลี้ยง 160 ล้านหุ้น ตอกย้ำการเป็นหุ้น ไบโอเทคตัวจริง! เตรียมเข้าเทรดตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) วันที่ 20 มีนาคม 2567 นี้ “สมภพ กีระสุนทรพงษ์” กรรมการผู้อำนวยการ บล. ฟินันเซีย ไซรัส ในฐานะที่ปรึกษาทางการเงินและแกนนำการจัดจำหน่าย เชื่อการกำหนดราคาไอพีโอ 1.63 บาท/หุ้น เป็นราคาเหมาะสม ประกอบกับเป็นหุ้นที่มีศักยภาพในการเติบโตสูง โชว์จุดเด่นอุตสาหกรรมการแพทย์จีโนมิกส์ นวัตกรรมการรักษาแห่งอนาคต นอกจากนี้ ผู้ถือหุ้นใหญ่ทั้งจีนและไทย สมัครใจ Lockup หุ้นส่วนที่ไม่ติดไซเรนพีเรียดตามเกณฑ์ SET ทั้งหมด เป็นเวลา 1 ปี ฟากซีอีโอ” ดร.เสาวลักษณ์ ด่านสกุล” ระบุ มูลค่าตลาดของการแพทย์จีโนมิกส์ของไทย มีการคาดการณ์ปี 2573 จะเพิ่มขึ้นแตะ 5.8 หมื่นล้านบาท เติบโตเฉลี่ยต่อปี 16.4% หรือเพิ่มขึ้น 4 เท่าจากปี 2564
นายสมภพ กีระสุนทรพงษ์ กรรมการผู้อำนวยการ บริษัทหลักทรัพย์ ฟินันเซีย ไซรัส จำกัด (มหาชน) ในฐานะที่ปรึกษาทางการเงินและผู้จัดการการจำหน่ายและรับประกันการจำหน่ายในการเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนให้กับประชาชนทั่วไป (IPO) ของบริษัท แบงคอกจีโนมิกส์อินโนเวชั่น จำกัด (มหาชน) (BKGI) เปิดเผยว่า การจองซื้อหุ้นไอพีโอของ BKGI จำนวน160 ล้านหุ้น มูลค่าที่ตราไว้ (พาร์) 0.50 บาท ในราคาหุ้นละ 1.63 บาท ระหว่างวันที่ 12-14 มีนาคม 2567 ได้รับความสนใจจากนักลงทุนอย่างดีเยี่ยม เนื่องจากนักลงทุนมั่นใจปัจจัยพื้นฐานของ BKGI ในฐานะที่เป็นหุ้น Biotechnology รายแรกของไทย ที่จะเข้าระดมทุนและจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ ภายใต้จุดเด่นอยู่ในอุตสาหกรรมการแพทย์จีโนมิกส์ (Genomics) ซึ่งถือเป็นนวัตกรรมการรักษาแห่งอนาคต อีกทั้ง แบรนด์สินค้ายังเป็นที่รู้จักและยอมรับในวงกว้างทั้งจากคู่ค้าและผู้ใช้บริการ
นอกจากนี้ ยังมีความได้เปรียบจากการที่กลุ่ม BGI ผู้ให้บริการถอดรหัสพันธุกรรมระดับโลก เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ และเป็นเจ้าของนวัตกรรม พร้อมที่จะถ่ายทอดเทคโนโลยี และงานวิจัย อีกทั้งยังให้ความสำคัญกับ BKGI ในฐานะ Flagship รองรับแผนขยายตลาดในภูมิภาคอาเซียน ซึ่งจะช่วยสนับสนุนผลการดำเนินงานในอนาคตของบริษัทเติบโตอย่างก้าวกระโดด
ทั้งนี้ ในส่วนของผู้ถือหุ้นใหญ่ที่เป็นกลุ่มคนไทย และกลุ่ม BGI ได้สมัครใจไม่ขายหุ้นส่วนที่เหลือจากการติดระยะเวลาห้ามขาย (ไซเรนพีเรียด) ทั้งหมด เป็นเวลา 1 ปี เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับนักลงทุน
การที่หุ้น BKGI ได้รับความสนใจจากนักลงทุน เนื่องจากการกำหนดราคาหุ้นอยู่ในระดับที่เหมาะสมกับปัจจัยพื้นฐานที่แข็งแกร่ง โดย BKGI เตรียมเข้าซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) ในวันที่ 20 มีนาคม 2567 ซึ่งใช้ชื่อย่อ ในการซื้อขายว่า “BKGI” ในหมวดบริการ/การแพทย์
ดร.เสาวลักษณ์ ด่านสกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท แบงคอกจีโนมิกส์อินโนเวชั่น จำกัด (มหาชน) (BKGI) กล่าวว่า อุตสาหกรรมการแพทย์จีโนมิกส์ (Genomics) หรือการวิเคราะห์ลำดับพันธุกรรมของสิ่งมีชีวิต มีแนวโน้มเติบโตต่อเนื่อง โดยศูนย์วิจัย Krungthai COMPASS ประเมินในปี 2573 มูลค่าตลาดจีโนมิกส์ของไทยจะแตะที่ระดับ 1.7 พันล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 5.8 หมื่นล้านบาท เติบโตเฉลี่ยต่อปี 16.4% หรือเพิ่มขึ้น 4 เท่าจากปี 2564
ทั้งนี้ รายได้ในการให้บริการด้านอนามัยเจริญพันธุ์ของ BKGI ในช่วงปี 2563 – 2566 มีอัตราการเติบโตเฉลี่ย 23.40% ต่อปี
“ธุรกิจของ BKGI มีโอกาสเติบโตอย่างก้าวกระโดด เนื่องจากเป็นอุตสาหกรรมที่อยู่ในเมกะเทรนด์โลก BKGI สามารถให้บริการตรวจ และคัดกรองพันธุกรรมทุกช่วงอายุตั้งแต่ก่อนตั้งครรภ์, การตรวจวิเคราะห์กลุ่มโรคติดเชื้อ และการตรวจวิเคราะห์อื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับพันธุกรรม ภายใต้เครื่องหมายการค้า ได้แก่ NIFTY, VISTA, NOVA, BGI-XOME, COLOTECT, SENTIS และ DNALL ซึ่งเป็นที่ยอมรับของคู่ค้าและผู้ใช้บริการ”
นอกจากนี้ ยังมีจุดแข็งจากการที่มี BGI ผู้ให้บริการถอดรหัสพันธุกรรมระดับโลก ในการถ่ายทอดเทคโนโลยี NGS (Next-Generation Sequencing) และได้รับการสนับสนุนจากกลุ่ม BGI ในด้านต่างๆ รองรับแผนขยายตลาดต่างประเทศในอนาคต ซึ่งถือเป็น New Growth ของ BKGI
ทั้งนี้ BKGI ให้บริการตรวจวิเคราะห์ทางการแพทย์ โดยนำเทคโนโลยีทางวิทยาศาสตร์ที่ทันสมัยที่ได้รับการถ่ายทอดจากกลุ่ม BGI ผู้ถือหุ้นรายใหญ่ ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้นำการถอดรหัสพันธุกรรมของโลก มาใช้ในการพัฒนาการตรวจวิเคราะห์ของ BKGI เพื่อให้ประชากรไทยมีสุขภาพที่ดีขึ้นอย่างยั่งยืนในอนาคต
โดยลักษณะการประกอบธุรกิจ สามารถแบ่งออกเป็น 2 ประเภท ได้แก่
- ธุรกิจการให้บริการตรวจคัดกรองและวิเคราะห์ทางห้องปฏิบัติการ ซึ่งแบ่งออกเป็น 4 ประเภท ได้แก่ 1) การตรวจคัดกรองความผิดปกติทางพันธุกรรมด้านอนามัยการเจริญพันธุ์ 2) การตรวจวิเคราะห์กลุ่มโรคติดเชื้อ เช่น การตรวจหาสารพันธุกรรมของเชื้อก่อโรคโควิด-19 และการตรวจภูมิคุ้มกัน 3) การตรวจคัดกรองอื่นๆ ได้แก่ การตรวจคัดกรองกลุ่มยีนที่มีความสัมพันธ์กับโรคมะเร็ง และการตรวจคัดกรองโรคที่ถ่ายทอดทางพันธุกรรมอื่นๆ และ 4) การให้บริการงานด้านเทคโนโลยี
- ธุรกิจการจำหน่ายผลิตภัณฑ์อื่นๆ (Other Products) เช่น ชุดอุปกรณ์สำหรับการเก็บสิ่งส่งตรวจ น้ำยาตรวจคัดกรองเชื้อไวรัสโควิด-19 และน้ำยาตรวจภูมิคุ้มกันต่อเชื้อโควิด-19 และชุดอุปกรณ์สำหรับตรวจความผิดปกติทางพันธุกรรมแบบครบวงจร เป็นต้น รวมทั้งในอนาคต จะมีการจำหน่ายผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ให้กับลูกค้าที่ใช้บริการถอดรหัสทางพันธุกรรมเฉพาะบุคคลอย่างละเอียด ตามคำแนะนำของแพทย์