นายชัชพล ประสพโชค ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการ บริษัท ยูเอซี โกลบอล จำกัด (มหาชน) หรือ UAC

บมจ.ยูเอซี โกลบอล ( UAC ) ปี 67 สดใสทั้งธุรกิจเทรดดิ้ง ปิโตเลียมเดินหน้าตามแผนพร้อมทยอยเปิดโครงการโรงไฟฟ้าภูผาม่าน (PPM)-โครงการ PT Cahaya Yasa Cipta (CYC)-โครงการผลิตปิโตรเลียมเพิ่มเติม ดันรายได้โต 15% ต่อปี และมี EBITDAมากกว่า 20% ของรายได้รวม  

นายชัชพล ประสพโชค ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการ บริษัท ยูเอซี โกลบอล จำกัด (มหาชน) หรือ UAC เปิดเผยว่า ในปี 2567 บริษัทฯ ยังคงเดินหน้าขยายการลงทุนต่อเนื่อง ในธุรกิจดำเนินการอยู่ในปัจจุบัน อาทิ ธุรกิจเทรดดิ้งมียอดขายเป็นไปตามเป้าหมายที่วางไว้ ส่วนธุรกิจปิโตรเลียมมีการผลิตได้ตามแผนที่วางไว้ 300 BBL/Day ส่งผลให้การเติบโตของผลการดำเนินงานโดยเฉพาะรายได้คาดว่าจะมีการเติบโตเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 15% ต่อปี และมี EBITDA มากกว่า 20% ของรายได้

และในปีนี้จะมีโครงการที่จะทยอยเปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์เพิ่มขึ้น ได้แก่  โครงการโรงไฟฟ้าภูผาม่าน (PPM) ซึ่งหลังจากที่ได้รับสัญญาซื้อขายไฟฟ้า (PPA) จากการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) เดือนกุมภาพันธ์ 2566 ที่ผ่านมา ทั้งนี้บริษัทฯ เตรียมเปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์ (COD) ในส่วนของหน่วย Generator#1 ซึ่งมีกำลังการผลิตไฟฟ้า 1.5 เมกกะวัตต์ ภายในไตรมาส 1/2567 นี้ และส่วนของหน่วย Generator#2 มีกำลังการผลิต 1.5 เมกกะวัตต์ โดยคาดว่าจะดำเนินการเชิงพาณิชย์ (COD) ได้ภายในไตรมาส 2/2567

 โครงการ PT Cahaya Yasa Cipta (CYC) ซึ่งเป็นการลงทุนของบริษัท ยูเอซี เอ็นเนอร์ยี่ จำกัด(บริษัทย่อย) ในบริษัท PT Cahaya Cipta สัดส่วน 70% เพื่อดำเนินธุรกิจเกี่ยวกับการผลิตและจำหน่าย RDF3 ในประเทศอินโดนีเซีย มีกำลังการผลิตประมาณ 40,000 ตัน/ปี  คาดว่าจะจำหน่ายให้กับโรงปูนซีเมนต์ในพื้นที่ใกล้เคียง ล่าสุดได้รับการสนับสนุนทางการเงินจากธนาคารแมสเปี้ยน (PT Bank Maspion Indonesia Tbk) ซึ่งเป็นธนาคารในกลุ่มKBANK จำนวน 60,000,000,000 IDR เพื่อใช้เป็นเงินลงทุนสำหรับโครงการก่อสร้างโรงงานผลิต RDF3 ของ CYC ซึ่งปัจจุบันอยู่ระหว่างการก่อสร้างและยื่นขอใบอนุญาตต่าง ๆ และคาดว่าจะดำเนินการก่อสร้างโรงงานพร้อมเปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์ (COD)ได้ไตรมาส 4/2567

สำหรับการลงทุนโครงการผลิตเชื้อเพลิงขยะ (RDF) นั้น ทาง UAC มองว่าเชื้อเพลิงขยะเป็นพลังงานหมุนเวียนที่นำขยะจากชุมชน (Municipal Solid Waste) มาเป็นเชื้อเพลิงซึ่งเป็นการเพิ่มมูลค่าจากของเหลือทิ้ง ดังนั้นมองว่าการลงทุนโครงการโรงงานผลิต RDF3 ที่เมือง Sukabumi จะเป็นการต่อยอดธุรกิจในรูปแบบเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) สอดรับกับการคำนึงถึงความรับผิดชอบด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และ การกำกับดูแลกิจการ (ESG) ซึ่งเป็นหลักการในการวางรากฐานความยั่งยืนและเสริมสร้างความมั่นคงและผลตอบแทนให้กับบริษัทฯ ในระยะยาว โดยโรงงานผลิต RDF3 เป็นธุรกิจใหม่ที่ UAC เพื่อรองรับการดำเนินธุรกิจเกี่ยวกับการผลิตและจำหน่าย RDF3 ในประเทศอินโดนีเซีย ที่มีกำลังการผลิตประมาณ 40,000 ตัน/ปี โดยจำหน่ายให้กับโรงปูนซีเมนต์ PT Semen Jawa บริษัทในเครือ SCG

ส่วนการผลิตปิโตรเลียม ของแหล่งบูรพา (L11/43) และแหล่งอรุโณทัย (L10/43) มีการวางแผนติดตั้ง Beam Pump ที่แหล่งบูรพาเพื่อเพิ่มกำลังการผลิตจำนวน 3 ชุด โดยติดตั้งแล้วเสร็จ จำนวน 1 ชุด ส่วนอีก 2 ชุด คาดว่าจะติดตั้งเสร็จภายในไตรมาส 1/2567 ซึ่งจะเพิ่มกำลังการผลิตให้ได้ตามเป้า 300 BBL/D

ขณะที่ผลการดำเนินงานในปี 2566 บริษัทฯ มีรายได้จากการขายและบริการเติบโตอย่างโดดเด่น โดยมีรายได้รวมแตะ 1,589.78 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 309.03 ล้านบาท (YoY) หรือ 24.13 % (YoY) และมีกำไรส่วนที่เป็นของผู้ถือหุ้นของบริษัท และ EBITDA จำนวน 278.03 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 252.55 % (YoY)  และ 448.54 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 84.94 % (YoY) ตามลำดับ อย่างไรก็ตามจากตัวเลขผลการดำเนินงานที่เติบโตอย่างโดดเด่นส่งผลให้คณะกรรมการบริษัทฯ ประกาศจ่ายเพิ่มเติมอีก 0.10 บาทต่อหุ้น ในวันที่ 29 เมษายนนี้

- Advertisement -