เอเชียน มารีนฯ จับมือ อีโคมารีน พร้อมพันธมิตร เปิดตัวเรือดักจับขยะ Interceptor 019 ครั้งแรกในประเทศไทย มุ่งลดขยะพลาสติกในแม่น้ำเจ้าพระยา
                       
“เอเชียน มารีนฯ” ควงคู่ “อีโคมารีน”  ดึง “bioQ” ผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดสูตรชีวภาพที่มีคุณสมบัติพิเศษสามารถย่อยสลายคราบไขมันได้ ร่วมโปรเจกต์ระดับโลกเปิดตัว เรือดักจับขยะ Interceptor 019 ครั้งแรกในประเทศไทย โดย “The Ocean Cleanup” ชูธงด้วยนวัตกรรมเรือดักจับขยะบนผิวน้ำด้วยเทคโนโลยีขั้นสูง พร้อมภาครัฐ และเอกชนระดับโลก ขานรับเข้าร่วมโปรเจกต์ แก้ไขพฤติกรรมการทิ้งขยะพลาสติกให้ถูกที่ เพราะขยะทุกชิ้นมีเจ้าของ ปูทางสู่ความยั่งยืน

นายสุรเดช ตัณฑ์ไพบูลย์  ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เอเชียน มารีน เซอร์วิสส์ จำกัด (มหาชน) หรือ ASIMAR และกรรมการบริหาร บริษัท อีโคมารีน จำกัด กล่าวว่า ในฐานะที่เป็นส่วนหนึ่งในความร่วมมือของเรือดักจับขยะ Interceptor 019 ซึ่งนับเป็นการดำเนินงานในโปรเจกต์สู่ความยั่งยืน และเป็นเกียรติอย่างยิ่งที่ได้ร่วมงานกับ The Ocean Cleanup พร้อมด้วยพันธมิตรทั้งภาครัฐ และภาคเอกชนระดับโลก ซึ่งมีหลักการและวิสัยทัศน์เดียวกันในการคิดค้นนวัตกรรมสำหรับการป้องกันมลพิษทางน้ำ และปรับปรุงสภาพแวดล้อมทางทะเล นับเป็นการยกระดับการดำเนินธุรกิจภายใต้การคำนึงถึงสิ่งแวดล้อมบนหลัก ESG

โดยเอเชียน มารีนฯ สนับสนุนการประกอบเรือดักจับขยะ Interceptor 019 นวัตกรรมเรือดักจับขยะบนผิวน้ำด้วยเทคโนโลยีขั้นสูง เพื่ออำนวยความสะดวกในการปฏิบัติงานดักจับขยะบนผิวน้ำในแม่น้ำไม่ให้ไหลออกสู่ทะเล กลไกการทำงานของเรือลำนี้ใช้พลังงานจากแสงอาทิตย์ซึ่งนับเป็นพลังงานสะอาด 100% ทำงานด้วยระบบสายพานลำเลียงดักเก็บขยะที่ลอยมาตามกระแสน้ำ และถูกรวบรวมลงในถังขยะภายในเรือจากนั้นขยะที่จัดเก็บได้จะถูกนำขึ้นฝั่งเพื่อไปคัดแยกที่ศูนย์คัดแยกขยะต่อไป โดยมี อีโคมารีน มีหน้าที่ดูแลและบริหารจัดการเรืออินเตอร์เซ็ปเตอร์ตลอดระยะเวลาของโครงการดังกล่าว ร่วมถึงการนำผลิตภัณฑ์ bioQ ผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดใช้ทำความสะอาดคราบสกปรก และคราบไขมัน ที่ติดบนพื้นผิวภายในเรือจากการดักจับขยะ สามารถช่วยลดกลิ่นที่ไม่พึงประสงค์ มาร่วมสนับสนุนการแก้ไขปัญหามลภาวะทางน้ำ ป้องกัน และพัฒนาสิ่งแวดล้อมนำไปสู่ความยั่งยืน

“ถือเป็นความภาคภูมิใจของการมีส่วนร่วมครั้งนี้ นับเป็นโอกาสที่ดีของทั้ง 2 บริษัทฯ  ที่ได้นำประสบการณ์ในการต่อเรือ การซ่อมแซมเรือ รวมถึงอุปกรณ์ องค์ความรู้ และบุคลากรที่มีความสามารถในการจัดการสิ่งแวดล้อมทางน้ำ มาช่วยแก้ปัญหาขยะพลาสติกในแม่น้ำ โดยมีเป้าหมายคือการพัฒนาโซลูชันการทำความสะอาดแม่น้ำ โดยการแยกขยะพลาสติกออกจากแหล่งน้ำ รวมถึงสร้างความตระหนักและให้ความสำคัญของการทิ้ง แยกขยะอย่างถูกวิธี” นายสุรเดช กล่าว

เรือดักจับขยะ Interceptor 019 นับเป็นลำที่ 19 ของโลก ใช้พลังงานจากแสงอาทิตย์ในการดักจับขยะแบบอัตโนมัติ และเป็น Interceptor ลำที่ 5 ของ The Ocean Cleanup ที่ติดตั้งในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ภายใต้ความร่วมมือกับ โคคา-โคล่า โดยได้ติดตั้งไปแล้ว 1 ลำในอินโดนีเซีย 1 ลำในเวียดนาม และ 2 ลำในมาเลเซีย นอกจากนี้ ยังมีการติดตั้ง Interceptor ในสาธารณรัฐโดมินิกัน และเมืองลอสแอนเจลิส ในสหรัฐอเมริกาด้วย

ปัจจุบันได้ติดตั้ง และดำเนินการดักจับขยะ ณ บริเวณริมฝั่งแม่น้ำบริเวณหน้าสวนสาธารณะเฉลิมพระเกียรติ 6 รอบ พระชนมพรรษา จำนวน 10 ตันแล้ว ซึ่งเป็นช่วง 16 กิโลเมตรสำคัญของแม่น้ำเจ้าพระยา โดยมีลำคลองจำนวน 61 สายไหลมาบรรจบในช่วงนี้ ทำให้มีโอกาสที่ขยะพลาสติกจะถูกพัดพามาจากที่ต่าง ๆ ทั้งนี้จะมีการเก็บข้อมูลของขยะที่ Interceptor 019 ดักจับได้ เพื่อศึกษาและทำความเข้าใจประเภทของขยะพลาสติกในแม่น้ำเจ้าพระยา และมุ่งศึกษาวิธีการสกัดและดักจับขยะพลาสติกก่อนที่จะไหลเข้าสู่ช่วง 50 กิโลเมตรสุดท้ายของแม่น้ำเจ้าพระยา ซึ่งจะบรรจบกับอ่าวไทยและพัดพาขยะพลาสติกไปยังมหาสมุทร

สำหรับความร่วมมือของการดำเนินโครงการจัดตั้ง เรือดักจับขยะ Interceptor 019  ในครั้งนี้ มีระยะเวลาโครงการ 5 ปี (2567-2571) ได้รับความร่วมมือและสนับสนุนจากหน่วยงานภาครัฐ และเอกชนระดับโลก ได้แก่ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม, กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง, กรุงเทพมหานคร, กรมเจ้าท่า, เดอะโคคา-โคล่า คัมปะนี, สถานเอกอัครราชทูตเนเธอร์แลนด์ประจำประเทศไทย, บริษัท อีโคมารีน จำกัด, บริษัท เอเชียน มารีน เซอร์วิสส์ จำกัด (มหาชน) และจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย  เพื่อติดตั้งและดำเนินการนำเรือ Interceptor 019 ในการดักจับขยะในแม่น้ำเจ้าพระยา รวมทั้งศึกษาปัญหามลพิษจากขยะพลาสติกที่ส่งผลต่อแม่น้ำและลำคลองสายต่างๆอย่างลึกซึ้ง

ด้าน โบแยน สแลต ประธานกรรมการบริหาร และผู้ก่อตั้ง The Ocean Cleanup  กล่าวว่า เรือดักจับขยะ Interceptor 019 เป็นก้าวสำคัญในการป้องกันไม่ให้มลพิษจากขยะพลาสติกในกรุงเทพฯ ไหลลงสู่มหาสมุทร นับเป็นก้าวแรกของประเทศไทยสำหรับการร่วมมือกับกรุงเทพมหานครและพันธมิตรเพื่อลดปัญหาขยะในแม่น้ำเจ้าพระยา สิ่งที่ได้เรียนรู้จากการดำเนินงานด้านการกำจัดพลาสติกในมหาสมุทรในเมืองต่างๆ จะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อการโครงการติดตั้ง Interceptor ทั่วโลก ซึ่งมีแผนจะขยายไปอีกหลายแห่ง ภายใต้โครงการ Rivers

- Advertisement -